คลินิกระงับปวด
ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยปัญหาปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดคอหรือปวดข้อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น อาการปวดเรื้อรัง (chronic pain syndrome) หรือโรคความปวดเรื้อรัง (chronic pain disease) คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป หรืออาการปวดที่ยังคงอยู่ภายหลังสาเหตุของโรคได้รับการรักษาหายแล้ว
คลินิกระงับปวด (Pain Clinic) ให้บริการในด้านการวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดที่แท้จริงและให้การดูแลรักษาแบบไม่ผ่าตัดด้วยการทำ pain intervention หรือหัตถการบำบัดความปวด ภาวะปวดเรื้อรังที่สามารถทำหัตถการบำบัดความปวด ได้แก่
- ปวดคอเรื้อรัง (Chronic neck pain)
- ปวดหลังเรื้อรัง (Chronic low back pain)
- ปวดไหล่เรื้อรัง (Chronic shoulder pain)
- ปวดเข่าเรื้อรัง (Chronic knee pain)
- ปวดเส้นประสาทเรื้อรัง (Neuropathic pain/Nerve pain) จากสาเหตุต่าง ๆ
- ปวดเรื้อรังจากโรคมะเร็ง (Cancer pain)
- ภาวะปวดเรื้อรังจากสาเหตุต่าง ๆ (Chronic pain syndrome)
หลักการรักษาโรคความปวดเรื้อรัง (Goals of chronic pain treatment)
ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินอาการปวด การตรวจร่างกาย และส่งตรวจวินิจฉัยที่จำเป็นโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการระงับปวดก่อนเริ่มให้การรักษาด้วยยา หรือรักษาด้วยหัตถการบำบัดความปวดที่คลินิกระงับปวด (Pain Clinic) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ
- ลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวด ให้อยู่ในระดับที่ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมาน (pain relief) ลดการใช้ยาแก้ปวดเพื่อลดผลข้างเคียงต่างๆ จากยา
- ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ (Return function) เช่น สามารถทำงานหรือช่วยเหลือตนเองได้
- เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย (Improve quality of life) เช่น สามารถนอนหลับได้ มีภาวะเครียดวิตกกังวลลดลง ไม่มีภาวะซึมเศร้า
การระงับปวดที่ดีที่สุดคือการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด อย่างไรก็ตาม หากสาเหตุของอาการปวดไม่สามารถแก้ไขได้ หรือมีการแก้ไขสาเหตุแล้วอาการปวดยังคงอยู่ รวมทั้งอยู่ระหว่างการรักษาสาเหตุ หรือผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการรักษาโดยการผ่าตัด ดังนั้นการระงับปวดที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
หัตถการบำบัดความปวดที่ให้บริการ ได้แก่
- ESI (Epidural Steroid Injection) หรือ SNRB (Selective Nerve Root Block)
การฉีดยาชาและยาลดการอักเสบไปยังช่องเหนือไขสันหลังซึ่งอยู่ชิดกับตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกยื่นจนเกิดการอักเสบของเส้นประสาท เพื่อบำบัดความปวดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทที่หลังหรือที่คอ หรือในผู้ป่วยที่เป็นโรคปวดหลังจากโพรงไขสันหลังตีบ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงต้นขาหรือน่อง หรือมีอาการปวดคอเรื้อรังร่วมกับมีอาการปวดร้าวบริเวณมือหรือนิ้วมือ
- Facet joint injection
การฉีดยาชาและยาลดการอักเสบไปยังข้อต่อฟาเซ็ต (facet joints) ซึ่งเป็นข้อต่อขนาดเล็กที่เชื่อมกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีเฉพาะอาการปวดหลังที่ไม่ร้าวลงขา หรือมีอาการปวดเฉพาะบริเวณต้นคอ ร่วมกับภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไม่พบเส้นประสาทถูกกดเบียด อาการปวดหลังที่มีสาเหตุจากข้อต่อฟาเซ็ตจำเป็นต้องรักษาด้วยหัตถการบำบัดความปวด เนื่องจากเป็นอาการปวดที่ไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขได้
- Sacroiliac joint (SIJ) injection
การฉีดยาชาและยาลดการอักเสบไปยังข้อต่อเชิงกรานด้านหลังบริเวณเอว เพื่อวินิจฉัยและบำบัดความปวด ที่มีสาเหตุเกิดการจากอักเสบของข้อต่อเชิงกราน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดหลังช่วงล่างหรือบริเวณสลักเพชร และอาจพบอาการปวดร้าวลงต้นขาด้านหลังได้
- RFA (Radiofrequency Ablation)
การระงับปวดโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ เพื่อรักษาอาการปวดเรื้อรังชนิดต่าง ๆ ซึ่งให้ผลการบำบัดความปวดที่นานขึ้น ประมาณ 6-9 เดือน การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้อุปกรณ์เครื่องกำเนิดวิทยุและเข็มชนิดพิเศษปล่อยคลื่นวิทยุเพื่อให้เกิดพลังงานความร้อนหรือการกระตุ้นไปยังตำแหน่งของข้อต่อกระดูก ข้อต่อเชิงกราน หรือเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของความปวด ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาด้วยการฉีดยาบำบัดความปวดแบบอื่น ๆ มาก่อนแล้วสามารถลดปวดได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ การรักษาสามารถทำได้ทั้งแบบผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตำแหน่งเข็มได้ประมาณ 2-3 วัน
- PRP (Platelet Rich Plasma) injection
การใช้พลาสมาซึ่งมีส่วนประกอบของเกล็ดเลือดฉีดไปยังบริเวณที่มีการฉีกขาดของเส้นเอ็น เพื่อรักษาอาการปวดไหล่เรื้อรังโดยไม่มีการใช้ยาสเตียรอยด์ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ โดยพลาสมาที่ใช้ฉีดจะนำมาจากเลือดของผู้ป่วยเองและผ่านกระบวนการพิเศษในการปั่น จนได้พลาสมาที่อุดมไปด้วยเกล็ดเลือดและสารต่าง ๆ เรียกว่า growth factor ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการสมานของเส้นเอ็นที่ฉีกขาดได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ผลการรักษาเพื่อลดปวดประมาณ 1 เดือนหลังฉีด
วิธีการรักษาด้วยหัตถการบำบัดความปวดข้างต้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการระงับปวดจะเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
แพทย์ประจำแผนก
ตารางแพทย์ออกตรวจ
1.ผศ. พญ.พรพรรณ เฉลิมกิจพานิชย์ ออกตรวจ จันทร์ เวลา 16.30 – 18.30 และ เสาร์ที่ 2, 4 เวลา 9.00 – 12.00
2.นพ.ปัตย์ ปั้นเหน่งเพ็ชร ออกตรวจ พฤหัส เวลา 16.30 – 19.30
3.นพ.มาร์วิน เทพโสพรรณ ออกตรวจ อังคาร เวลา 16.30 – 18.30 และ เสาร์ที่ 1, 3, 5 เวลา 9.00 – 12.00