fbpx

เด็กหลอดแก้ว IVF (In-Vito Fertilization)

IVF คือ

การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับความนิยม เนื่องจากมีอัตราการตั้งครรภ์สูง การทำ IVF จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่ของคู่สมรสในปัจจุบัน หรือคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก

ในบทความนี้ ทีม BNH Hospital จะพามาทำความรู้จักกับการทำ IVF ว่าคืออะไร ต่างจากการทำ ICSI อย่างไร ขั้นตอนการทำ IVF ทำอย่างไร ข้อดีและข้อจำกัดของการทำ IVF วิธีการเตรียมตัวดูแลก่อนการทำ IVF ค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการทำ IVF รวมไปถึงตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF

สารบัญบทความ

เด็กหลอดแก้ว IVF คือ

การทำ IVF (In-Vito Fertilization) คือการทำเด็กหลอดแก้ว โดยคัดไข่ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธิที่ภายนอก แล้วจึงนำไข่ที่ผสมแล้วจนเป็นตัวอ่อนระยะที่ 5 นำกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์แบบปกติต่อไป

แนะนำประสานงานโดยทีมงาน โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
ที่มีประสบการณ์ดูแลกลุ่มคนไข้ภาวะมีบุตรยากนานกว่า 15 ปี

ทำไมถึงต้องทำ IVF

ทำไมถึงต้องทำ IVF ? เนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้ว IVF นั้นเป็นวิธีการรักษาผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก ตามธรรมชาติแล้วโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ของกลุ่มผู้หญิงอายุ 35 ปี ขึ้นไป จะมีโอกาสสำเร็จน้อยลง สาเหตุเกิดจากไข่ของผู้หญิงมีคุณภาพและจำนวนลดลงและค่อยๆ เสื่อมสภาพ ส่งผลให้มีบุตรยาก รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น มดลูกไม่แข็งแรง หรือทำงานผิดปกติ

 
การทำ IVF จึงเป็นทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีบุตรยาก อีกทั้งการทำ IVF ยังช่วยลดความเสี่ยงของลูกที่อาจเกิดมามีความผิดปกติของโครโมโซมเนื่องจากอายุที่มากขึ้นอีกด้วย ยิ่งเราเข้ารับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF เร็วเท่าไร คุณภาพของไข่ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

แล้วการทำ IVF เหมาะกับใคร?

การทำ IVF เหมาะกับคู่สมรสที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยาก และพยายามมีบุตรมากกว่า 3 ปี หรือคู่สมรสที่ใช้วิธีกระตุ้นการตกไข่และการผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรงมาแล้ว (IUI) แต่ยังไม่ตั้งครรภ์ รวมไปถึงผู้ที่เสี่ยงต่อการส่งต่อโรคพันธุกรรม เพราะหนึ่งในขั้นตอนการทำ IVF แพทย์จะทำการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมได้บางส่วน ก่อนนำไปฝังในโพรงมดลูก

ฝ่ายชาย

  • มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของเชื้ออสุจิ เช่น มีจำนวนน้อย รูปร่างผิดปกติ เคลื่อนที่ไม่ดี อาจทำให้อสุจิเคลื่อนตัวเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยากขึ้น

ฝ่ายหญิง

  • มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Adhesion) เป็นภาวะพังผืดที่มักเกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ ปีกมดลูก เป็นต้น การมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานส่งผลให้มีบุตรยาก
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือการที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเติบโตนอกเหนือจากโพรงมดลูกปกติ ส่งผลให้มีอาการปวดท้องรุนแรง ประจำเดือนมามากกว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะมีบุตรยาก
  • ท่อนำไข่อุดตัน หรือถูกทำลาย เมื่อท่อนำไข่เกิดความผิดปกติ จะทำให้เกิดการปฏิสนธิยากขึ้น ทำให้อาจเป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยาก
  • มีภาวะตกไข่ช้า หรือภาวะไข่ไม่ตก (Anovulation) เป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยากที่พบบ่อย เนื่องจากมีความผิดปกติของการพัฒนาของไข่และการตกไข่ ส่งผลต่อประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • มีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย รังไข่ไม่สามารถทำหน้าที่ให้เพียงพอต่อการตกไข่ตามปกติ ก่อนอายุ 40 ปี

IVF ต่างจาก ICSI อย่างไร

ความแตกต่างระหว่างการทำ IVF และ ICSI นั้น อยู่ที่ขั้นตอนการปฏิสนธิ โดยการทำ IVF ไข่และอสุจิหลายตัวจะถูกนำไปผสมในจานเพาะเลี้ยง ซึ่งอสุจิจะว่ายมาปฏิสนธิกับเซลล์ไข่เองตามธรรมชาติ เมื่อเข้าสู่การปฏิสนธิ ก็จะได้ตัวอ่อน ในขณะที่การทำ ICSI นั้น เป็นการใช้เข็มฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง

ทำ IVF ที่ไหนดี

โอกาสสำเร็จมากแค่ไหนสำหรับ IVF (Success Rate)

สำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF นั้นมีขั้นตอนที่แตกต่างจากการทำ ICSI คือการปฏิสนธิ ในขั้นตอนการปฏิสนธินี้เองจะเป็นตัวบ่งบอกโอกาสความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้ว

ขั้นตอนการปฏิสนธิแบบ IVF นั้นอสุจิจะว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่ตามธรรมชาติ หากตัวอสุจิของฝ่ายชายมีความผิดปกติหรือไม่แข็งแรง เมื่อมีการปฏิสนธิกันแล้ว อาจพบว่าได้ตัวอ่อนเพียง 1 หรือ 2 ใบ หรือไม่ได้ตัวอ่อนเลย

 

โอกาสความสำเร็จของการทำ IVF ยังขึ้นอยู่กับอายุของฝ่ายหญิงอีกด้วย ดังนี้

  • อายุน้อยกว่า 35 ปี ความสำเร็จอยู่ที่ 34.8%
  • อายุ 35-39 ปี ความสำเร็จอยู่ที่ 26.5%
  • อายุมากกว่า 40 ปี ความสำเร็จอยู่ที่ 11.4%

การเตรียมตัวสำหรับการทำ IVF

การเตรียมตัวของฝ่ายหญิงและฝ่ายชายเป็นสิ่งสำคัญมาก หากเตรียมตัวดีก็จะยิ่งมีโอกาสได้ไข่ อสุจิ และตัวอ่อนที่ดี ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

การเตรียมตัวด้านสุขภาพ

  • เริ่มจากการดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นทานอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอ ทานผักและผลไม้ ลดอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลสูง รวมไปถึงอาหารแปรรูป
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง ไม่ควรนอนเกิน 5 ทุ่ม เพราะหากนอนหลับเร็ว ร่างกายจะทำการหลั่งฮอร์โมนที่สำคัญและจำเป็นออกมา
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 30-45 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง ควรเน้นการออกกำลังกายจำพวกคาร์ดิโอ (Cardio Exercise) เช่น วิ่ง เดินเร็ว ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เป็นต้น เพราะจะทำให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงรังไข่และลูกอัณฑะ
  • ลดความเครียด 
  • ในช่วงวันที่ 2 ของการมีประจำเดือน ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์เบื้องต้น เพื่อประเมินสภาพของร่างกาย สภาวะและการทำงานของรังไข่ และรับคำแนะนำที่ถูกต้อง รวมถึงรับยาเสริมสำหรับการกระตุ้นไข่กลับไปรับประทาน 

อาหารเสริมสำหรับฝ่ายหญิง เช่น กรดโฟลิค (Folic acid) แอสต้าแซนธิน (Astaxanthin) วิตามิน ซี (Vitamin C) วิตามินดี 3 (Vitamin D3) วิตามินบี 12 (Vitamin B12) และ Coenzyme Q10 เป็นต้น ซึ่งอาหารเสริมเหล่านี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่ในผู้หญิง และลดโอกาสเด็กในครรภ์พิการ

 

อาหารเสริมสำหรับฝ่ายชาย เช่น แอล-คาร์นิทีน ฟูมาเรท (L-Carnitine Fumarate) กรดโฟลิก (Folic Acid) และ ซิงค์ อะมิโน แอซิด คีเลต 20% (Zinc Amino Acid Chelate 20%) วิตามิน บี (Vitamin B) Coenzyme Q10 และ Astaxanthin เป็นต้น อาหารเสริมเหล่านี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำเชื้อในผู้ชาย และเพิ่มปริมาณน้ำเชื้อเล็กน้อย รวมไปถึง สามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้หากภาวะมีบุตรยากมาจากฝ่ายชาย

 

ควรทานอาหารเสริมล่วงหน้า 1-2 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ไข่ในจำนวนที่เหมาะสมและมีคุณภาพดี อย่างไรก็ตามหากแพทย์ประเมินแล้วสามารถกระตุ้นไข่ได้เลย ก็สามารถกระตุ้นได้ในเดือนนั้น

การเตรียมตัวด้านการตรวจก่อนทำ IVF (Preparation Part)

  1. การเตรียมความพร้อมในฝ่ายหญิง

    1.1 เจาะเลือดเพื่อดูโรคติดเชื้อ ดังนี้
    1.1.1 ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC)
    1.1.2 ตรวจกรุ๊ปเลือด (Blood Group)
    1.1.3 ตรวจหมู่เลือดอาร์เอช (Rh Group )
    1.1.4 ตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี (Anti-HIV)
    1.1.5 ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ด้วยวิธี VDRL
    1.1.6 ตรวจหาโรคไวรัสตับอักเสบ (HBsAg)
    1.1.7 ตรวจหาไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV)
    1.1.8 ตรวจหาโรคหัดเยอรมัน (Rubella IgG)
    1.1.9 ตรวจหาโรคธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing)

    1.2 ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนของรังไข่ ซึ่งจะตรวจทั้ง E2 (Estradiol), LH (Luteinizing
    Hormone), FSH (Follicle Stimulating Hormone), PRL (Prolactin)

    1.3 ตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound: TVS)

    1.4 วัดระดับฮอร์โมนที่บ่งบอกปริมาณสำรองของไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่ (Anti Mullerian
    Hormones: AMH)

  2. การเตรียมความพร้อมในฝ่ายชาย

    2.1 ตรวจเลือด พร้อมโรคต่างๆ เช่นเดียวกับฝ่ายหญิง 

    2.2 ตรวจคุณภาพน้ำเชื้ออสุจิ และตรวจ Sperm DNA Fragmentation (ตรวจการแตกหักของ DNA ในอสุจิ) ก่อนการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ ควรงดการหลั่งประมาณ 3-7 วัน เพื่อให้น้ำเชื้อมีปริมาณเพียงพอ และไม่เก่าจนเกินไป

ขั้นตอนการทำ IVF

โดยขั้นตอนการทำ IVF มี 5 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

การกระตุ้นให้ไข่ตก Ovulation Induction (OI)

ในขั้นตอนการกระตุ้นให้ไข่ตก จะเริ่มจากการฉีดยากระตุ้นไข่ก่อน ซึ่งจะเริ่มทำเมื่อมีประจำเดือนวันที่ 3 ปริมาณยาที่แพทย์จะฉีดให้กับคนไข้นั้น จะพิจารณาจากอายุและฮอร์โมนของฝ่ายหญิง โดยแพทย์จะทำการฉีดยากระตุ้นไข่ เช่น Gonal F, Puregon, Pergoveris, Follitrope

 

ปกติแล้วใช้ระยะเวลาในการฉีดประมาณ 8-9 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของคนไข้แต่ละคน เมื่อแพทย์ตรวจติดตามอาการหลังจากฉีดยากระตุ้นไข่ และตรวจอัลตราซาวด์หลังจากฉีดยาไปแล้ว แพทย์จะทำการฉีดยากระตุ้นไข่และร่วมกับยาป้องกันไข่ตกก่อนเวลา โดยมีตัวยาที่ใช้คือ Orgalutran หรือ Cetrotide

 

เมื่อแพทย์ทำการเจาะเลือดและตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูการเจริญเติบโตของถุงไข่ว่าได้ขนาดที่โตเต็มที่ตามแพทย์ต้องการแล้ว (ประมาณ 17-18 mm หรือตามแพทย์พิจารณา) จึงจะทำการฉีดยาเพื่อทำให้ไข่ตก โดยแพทย์จะใช้ยากระตุ้นการตกไข่ Trigger shot สำหรับฉีดให้พร้อมสำหรับการเก็บไข่ที่เป็นฮอร์โมน ดังนี้

 

  • hCG (Human Chorionic Gonadotropin)
  • Ovidrel
  • Diphereline
  • Cetrotide

การเก็บไข่ Egg Retrieval

ในขั้นตอนการเก็บไข่ (Oocyte retrieval) หลังจากฉีดยาให้ไข่ตกแล้วประมาณ 34-36 ชั่วโมง แพทย์จะทำการเก็บไข่ โดยใช้วิธีอัลตราซาวด์เพื่อให้ดูตำแหน่งไข่ได้อย่างชัดเจน และเก็บผ่านทางช่องคลอด หลังจากนั้นจึงค่อยดูดออกมาให้ครบทุกใบ


ขั้นตอนการเก็บไข่จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เนื่องจากการเก็บไข่เป็นการทำหัตถการขนาดเล็ก จึงมีการใช้ยาสลบ ก่อนการเก็บไข่ฝ่ายหญิงต้องงดน้ำและอาหารประมาณ 8 ชั่วโมง

การเก็บน้ำเชื้อฝ่ายชาย Sperm

โดยในวันที่มีการเก็บไข่ฝ่ายชายจะทำการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ (Sperm) ด้วย แต่ถ้าหากว่าฝ่ายชายไม่สามารถเก็บอสุจิในวันดังกล่าวได้ ก็สามารถเก็บอสุจิได้ก่อนแล้วแช่แข็งเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงวันเก็บไข่จึงค่อยละลายเอาน้ำเชื้อออกมาใช้

 
โดยนักวิทยาศาสตร์จะนำน้ำอสุจิมาพักไว้ให้ละลาย จากนั้นจึงนำไปปั่นล้างเพื่อเอาอสุจิที่ไม่มีการเคลื่อนไหวและเศษเซลล์ต่างๆ ในอสุจิออก และทำการวิเคราะห์คุณภาพเชื้ออสุจิ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งในการที่แพทย์จะตัดสินใจว่าควรทำ IVF หรือ ICSI

 
หากคุณภาพน้ำเชื้ออสุจิเป็นปกติ แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธี IVF แต่ถ้าหากว่าน้ำเชื้ออสุจิไม่แข็งแรง แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธี ICSI เนื่องจากวิธี ICSI เป็นการเพิ่มโอกาสให้ไข่และอสุจิมีการปฏิสนธิมากขึ้น จึงมีโอกาสตั้งครรภ์สูง


วิธีการเก็บน้ำเชื้อฝ่ายชายจะทำโดยการช่วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเชื้อปะปนกับฝ่ายหญิง เช่น น้ำหล่อลื่นจากช่องคลอด เป็นต้น

การปฏิสนธิ Fertilization

หลังจากการเก็บไข่ จะทำการปฏิสนธิตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการควบคุมพิเศษ โดยจะรู้ผลการปฏิสนธิภายใน 1-2 วัน หลังจากนั้นจะทำการตรวจด้วยเทคโนโลยี NGS เพื่อดูความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน

 

สำหรับวิธี IVF มีขั้นตอนการปฏิสนธิ ดังนี้

  • ไข่และอสุจิหลายตัวจะถูกนำไปผสมในจานเพาะเลี้ยง
  • อสุจิจะว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่ตามธรรมชาติ
  • หลังจากนั้นจะเข้าสู่การปฏิสนธิจนได้ตัวอ่อน โดยนักวิทยาศาสตร์จะทำการคัดเลือกตัวอ่อนที่ดีและแข็งแรงที่สุด หากในขั้นตอนนี้ไม่ได้ตัวอ่อน จะทำการแก้ไขโดยการปฏิสนธิด้วยวิธี ICSI เพื่อให้ได้ตัวอ่อน

การย้ายตัวอ่อน Embryo Transfer : ET

ก่อนการย้ายตัวอ่อน แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ถ้ามีความหนาพอที่แพทย์ต้องการ แพทย์จะทำการกำหนดวันย้ายตัวอ่อน ปกติแล้วจะย้าย 5 วัน หลังจากการตรวจอัลตราซาวด์

 
เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryologist) จะทำการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryo Culture) ในน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อน หลังจากนั้นจะปล่อยให้ตัวอ่อนพัฒนา เจริญเติบโต และแบ่งเซลล์จนถึงวันที่ 5 ระยะ Blastocyst จึงจะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก

 

การย้ายตัวอ่อนมี 2 แบบ โดยทั้งสองแบบนี้มีข้อแตกต่างกันที่วิธีการเตรียมโพรงมดลูกก่อนการย้าย ซึ่งแพทย์จะแนะนำตามความเหมาะสมของแต่ละบุคค เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

1. การย้ายตัวอ่อนในรอบสด (Fresh ET)

เป็นการย้ายตัวอ่อนพร้อมรอบที่กระตุ้นไข่ เก็บไข่ ซึ่งจะย้ายในวันที่ 5 หลังจากการเก็บไข่ ถ้าตัวอ่อนมีการเติบโตดี แข็งแรง แพทย์จะนัดมาย้ายตัวอ่อนที่คัดเลือกเข้าสู่มดลูก

 

2. การย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง (Frozen-thawed ET)

เป็นการแช่แข็งตัวอ่อนเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยย้ายตัวอ่อนในภายหลัง โดยในขั้นตอนนี้มีกระบวนการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก และการใส่ตัวอ่อนกลับอยู่ 2 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

 

2.1 การย้ายรอบธรรมชาติ (Natural Frozen-thawed Embryo Transfer) ต้องมีการตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน และอัลตราซาวด์เพื่อคาดวันไข่ตก เนื่องจากในการเตรียมมดลูก จะมีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) จากรังไข่ไม่มีการใช้ยาฮอร์โมนจากภายนอก

 

2.2 การเตรียมโพรงมดลูกด้วยยา (Artificial or Medicated Embryo Transfer) เป็นการใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) จากภายนอก เช่น ยารับประทาน การแปะ ทา หรือ สอดทางช่องคลอดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ร่วมกัน บางรายที่เตรียมโพรงมดลูกยากอาจมีการฉีดยาเพื่อกดการทำงานของรังไข่ไว้ชั่วคราว ก่อนเริ่มยาฮอร์โมนเอสโตรเจน

ขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน

  1. รับประทานยาฮอร์โมนเพื่อเป็นการควบคุมความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก
  2. ก่อนการใส่ตัวอ่อน 1 วัน แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
  3. ขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน (Embryo transfer) ไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาหรือยาสลบ 
  4. หลังจากย้ายตัวอ่อนควรพักผ่อนมากขึ้นและงดออกกำลังกายหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเปรี้ยวและเผ็ด
  5. หลังจากย้ายตัวอ่อน แพทย์จะให้รับประทานยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ประมาณ 8-10 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการฝังตัวอ่อนในโพรงมดลูก และป้องการการแท้งลูก
  6. หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 11 วัน แพทย์จะนัดตรวจเลือดสำหรับดูการตั้งครรภ์

ข้อดีของการทำ IVF

ทำ IVF ดีไหม
  • ก่อนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก สามารถตรวจเช็คโครโมโซมของตัวอ่อนได้ (PGT) แพทย์จะแนะนำให้เช็คในผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เพราะมีโอกาสเกิดโครโมโซมผิดปกติสูง หรือผู้ที่เคยมีโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว รวมไปถึงผู้ที่เคยแท้ง 2 ครั้งขึ้นไป
  • การทำเด็กหลอดแก้ว IVF มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จมากกว่าการฉีดเชื้อ IUI
  • ช่วยให้มีโอกาสที่ได้บุตรที่ปกติ แข็งแรง ไม่มีโรคผิดปกติทางพันธุกรรม
  • ช่วยกำหนดช่วงเวลาที่จะวางแผนจะตั้งครรภ์ได้
  • ตัวอ่อนและไข่ สามารถแช่แข็งเก็บไว้ได้นานถึง 10 ปี

ข้อจำกัดในการทำ IVF

  • อาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา ในระหว่างกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว และการฝากถ่ายตัวอ่อน เช่น กระสับกระส่าย ร้อนวูบวาบ ปวดหัว เป็นต้น
  • มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อย
  • มีโอกาสตั้งครรภ์ลูกแฝด
  • มีโอกาสเกิดอาการรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome: OHSS) แต่ภาวะนี้ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบไม่บ่อย
  • มีโอกาสแท้งลูก โดยอัตราการแท้งลูกจะแปรผันตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ที่ตั้งครรภ์
  • มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูก เนื่องจากไข่ที่ได้รับการผสมแล้วอาจไปฝังที่บริเวณท่อนำไข่ แทนที่จะฝังตัวภายในมดลูก

ค่าใช้จ่าย

สำหรับค่าใช้จ่ายในการทำ IVF ที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช (BNH Hospital) 

ฝ่ายหญิงอยู่ที่ 400,000-600,000 บาท ฝ่ายชายอยู่ที่ 24,000-30,000 บาท

โดยสามารถดูรายละเอียดราคาเพิ่มเติมได้ที่ : รายละเอียดการทำแพคเกจ IVF/ICSI

คำถามที่พบบ่อยจากคนไข้

คำถาม : เด็กที่เกิดจากเด็กหลอดแก้ว จะมีความผิดปกติหรือแตกต่างจากเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติหรือไม่

คำตอบ : จากการศึกษาพบว่า ไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการ หรือความผิดปกติต่างๆ

 

คำถาม : ถ้าตั้งครรภ์ด้วยวิธี IVF มีการดูแลต่างจากการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติไหม

คำตอบ : อาจจะมีการใช้ยาหรือฮอร์โมนในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ประมาณ 4-6 สัปดาห์ และต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจเลือด วัดระดับฮอร์โมน และอัลตราซาวด์บ่อยกว่าการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติเล็กน้อย แต่เมื่อเลย 10 สัปดาห์ไปแล้ว สามารถดูแลการตั้งครรภ์เหมือนการท้องตามธรรมชาติได้เลย

 

คำถาม : ทำไมเราต้องเลี้ยงและย้ายตัวอ่อนในวันที่ 5

คำตอบ : หากตัวอ่อนถูกเลี้ยงจนถึงวันที่ 5 ในระยะ Blastocyst แล้วรอดชีวิต แสดงว่าตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตที่ปกติ แข็งแรง มีคุณภาพดี เมื่อย้ายกลับไปใส่ในโพรงมดลูกจะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น อีกทั้งระยะตัวอ่อนวันที่ 5 เป็นการเจริญเติบโตเลียนแบบธรรมชาติ เพราะปกติระยะนี้ตัวอ่อนจะเดินทางมาฝังตัวอยู่ที่โพรงมดลูก

 

คำถาม : จำกัดอายุสำหรับทำ IVF หรือไม่

คำตอบ : ปัจจุบันกฎหมายในประเทศมีการจำกัดอายุสำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วคืออายุไม่เกิน 55 ปี แต่ในทางการแพทย์ไม่มีการกำหนดอายุสำหรับการทำ IVF หรือ ICSI แต่ปกติแล้วเมื่ออายุ 45-48 ปี ขึ้นไป รังไข่จะเริ่มเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถกระตุ้นไข่ได้

 

คำถาม : ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างก่อนการทำ IVF

คำตอบ : เอกสารที่ต้องเตรียมก่อนการทำเด็กหลอดแก้วคือ ทะเบียนสมรส ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีการช่วยเจริญพันธุ์ปี พ.ศ.2558

สรุป

การทำเด็กหลอดแก้ว IVF เป็นวิธีที่คู่สมรสหลายคู่เลือกทำ รวมถึงคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การทำ IVF เป็นการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากกว่าการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ และการฉีดเชื้อ รวมถึงยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงแท้ง และลดความผิดปกติโครโมโซมของลูกที่เกิดมาได้

 

ทั้งนี้ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก หรือผู้ที่อยากเข้ารับการทำ IVF ควรมาปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินความเหมาะสมให้เข้ากับคนไข้แต่ละราย

อ้างอิง

Bilbao, D.A., Trolice, P.M., Vizcaino, M. Gallego, C.S., Salvador, Z., Fernandez, S. (2022, May 13). How Successful Is IVF with ICSI? – Pregnancy & Live Birth Rates. Invitra. https://www.invitra.com/en/results-of-icsi/


Ziarrusta, B.G., Meriño, H.I., Muñoz, M., Gómez, B.M., Salvador, Z., Goosman, A.C., (2022, April 01). Success rates of in vitro fertilization (IVF). Invitra. https://www.invitra.com/en/results-in-ivf/

แนะนำประสานงานโดยทีมงาน โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
ที่มีประสบการณ์ดูแลกลุ่มคนไข้ภาวะมีบุตรยากนานกว่า 15 ปี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ยินยอมทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
    เปิดใช้งานตลอด

    เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเว็บไซต์ของเรา เนื่องจากคุกกี้เหล่านี้ทำให้เว็บเซิร์ฟเวอร์สามารถตอบสนองต่อการกระทำของท่านได้ อีกทั้งยังช่วยในการแสดงผลหน้าเว็บต่อท่าน และยังรวมถึงมอบประสบการณ์ที่สอดคล้องในระหว่างการท่องเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้จะคงอยู่จนกว่าจะสิ้นสุดการเยี่ยมชมของท่านและจะถูกลบอัตโนมัติทันที
    รายชื่อคุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

    ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ของเราด้วยจำนวนครั้งการเข้าดูหน้าเว็บและจำนวนผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ โดยบริการวิเคราะห์เว็บจะวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ ซึ่งเราจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้หรือค้นหาส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ที่ควรได้รับการปรับปรุง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ (กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถใช้เพื่อระบุตัวตนของท่านและไม่มีการเก็บรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ และที่อยู่อีเมลของท่าน) และข้อมูลเหล่านี้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติเท่านั้น
    รายชื่อคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

  • คุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

    ช่วยให้เรารับรู้เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา ด้วยข้อมูลนี้เราจึงสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ของเราให้เป็นไปตามความต้องการของท่านได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมของท่านให้มีประสิทธิภาพและเฉพาะเจาะจงสำหรับท่านมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วข้อมูลที่รวบรวมโดยคุกกี้เหล่านี้จะไม่สามารถระบุตัวตนของท่านได้
    รายชื่อคุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณา

    จะอยู่บนอุปกรณ์ของท่านเพื่อบันทึกหน้าเว็บไซต์หรือลิงค์ที่ท่านได้เยี่ยมชมหรือติดตาม ข้อมูลที่ได้จะถูกใช้เพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราและแคมเปญโฆษณาของเราเพื่อให้เหมาะกับความสนใจของท่าน
    คุกกี้เพื่อการโฆษณา

บันทึก