การฉีดผสมเทียม IUI วิธีการพื้นฐานสำหรับแก้ไขภาวะมีบุตรยาก

สำหรับผู้ที่มีบุตรยาก ทางศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากหลายๆ ที่ มักจะแนะนำให้ทำการผสมเทียมที่เรียกว่า IUI ก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนจะพิจารณาทำเด็กหลอดแก้วแบบต่างๆ เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย เป็นพื้นฐาน และไม่ยุ่งยากซับซ้อน
แต่ว่า IUI คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เหมาะกับใคร และมีวิธีการทำอย่างไรบ้าง?
แนะนำประสานงานโดยทีมงาน โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
ที่มีประสบการณ์ดูแลกลุ่มคนไข้ภาวะมีบุตรยากนานกว่า 15 ปี
IUI คืออะไร?
IUI หรือ Intra-Uterine Insemination คือวิธีการแก้ปัญหาการมีบุตรยากแบบหนึ่ง ที่จะใช้วิธีการฉีดเชื้อผสมเทียมเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง เพื่อลดอัตราการตายของตัวอสุจิ ให้อสุจิจำนวนมากเข้าถึงท่อนำไข่เพื่อผสมกับไข่ได้มากขึ้น รวมทั้งการฉีดอสุจิจะทำในวันที่ไข่ตกพอดี เป็นการเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด
IUI สามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้ โดยมีโอกาสตั้งครรภ์มากถึง 10 – 15% แม้อัตราการตั้งครรภ์จะน้อยกว่าการทำเด็กหลอดแก้วอย่าง ICSI หรือ IVF แต่ก็ซับซ้อนน้อยกว่า ไม่ต้องพบแพทย์บ่อย และค่าบริการการทำก็ถูกกว่าด้วยเช่นกัน
ทำไมถึงต้องทำ IUI?

เพราะปัญหาการมีบุตรยาก อาจเกิดจากอสุจิไม่สามารถวิ่งไปถึงไข่ได้ การทำ IUI จะทำให้เชื้ออสุจิมีโอกาสเข้าไปผสมกับไข่ได้มากขึ้น
ปกติแล้วการหลั่งน้ำเชื้อของผู้ชาย 1 รอบ ควรจะมีอสุจิประมาณ 200 ล้านตัว แต่ด้วยปากมดลูกที่แคบกว่าช่องคลอด ประกอบกับช่องคลอดมีสภาวะเป็นกรด ทำให้เชื้ออสุจิส่วนใหญ่ตาย อ่อนแรง หรือไม่สามารถหาทางไปถึงไข่ที่อยู่บริเวณท่อนำไข่ได้ ส่งผลให้อสุจิที่ไปถึงไข่จะมีเพียง 200 – 500 ตัวเท่านั้น
และหากฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณ ความเข้มข้น ความแข็งแรง หรือการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ จะยิ่งทำให้ปริมาณอสุจิที่สามารถเข้าไปถึงไข่ได้มีจำนวนน้อยลงกว่าเดิมมาก จนอาจไม่สามารถทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ได้
การทำ IUI เป็นการทำให้น้ำเชื้อเข้มข้นขึ้น และฉีดเขาไปด้านในโพรงมดลูกโดยตรง ทำให้อสุจิมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น ร่นระยะทางการเคลื่อนที่ไปหาไข่ลง อสุจิสามารถไปถึงไข่เพื่อปฏิสนธิได้มากขึ้น นอกจากนี้แพทย์จะกำหนดวันฉีดน้ำเชื้อผสมเทียมในวันที่ไข่ตกอย่างแม่นยำ เพื่อให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ทันทีก่อนที่ไข่จะฝ่อไป ดังนั้นการทำ IUI จึงเหมาะกับ
- ฝ่ายชายที่
- มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำเชื้อ เช่น ความเข้มข้นน้อย ปริมาณน้ำเชื้อน้อย อสุจิมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนที่หรือแข็งแรงไม่พอ
- มีเชื้ออสุจิที่เคลื่อนที่ได้ดีในจำนวนที่มากเพียงพอ คือต้องมีมากกว่า 5 ล้านตัวขึ้นไป
- ฝ่ายหญิงที่
- ควรอายุน้อยกว่า 30 ปี หากอายุมากขึ้นความสำเร็จจะลดลง เนื่องจากจะมีภาวะมดลูกเสื่อม
- มีปัญหาเกี่ยวกับอุ้งเชิงกราน เช่น ปากมดลูกหรือคอมดลูกตีบ (Cervical stenosis) จนอสุจิเคลื่อนที่เข้าโพรงมดลูกได้ยาก
- มีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังจากความผิดปกติต่างๆ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS)
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- ต้องการตั้งครรภ์ด้วยน้ำเชื้อที่แช่แข็งไว้ (Frozen sperm)
- ต้องการตั้งครรภ์ แต่ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์
- แพ้น้ำเชื้อ (Semen allergy) จนทำให้ช่องคลอดแดงหรือระคายเคืองเมื่อสัมผัสน้ำเชื้อ
- ท่อนำไข่ต้องปกติทั้ง 2 ข้าง หรืออย่างน้อยต้องดีข้างใดข้างหนึ่ง
นอกจากนี้ยังเหมาะกับใช้แก้ไขภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ (Unexplained infertility) เนื่องจากเป็นวิธีการแก้ปัญหาในเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะแนะนำให้ทำ IUI ร่วมกับการฉีดยากระตุ้นไข่ตก เพื่อให้ฉีดเชื้อผสมเทียมได้พอดีกับช่วงที่ไข่ตก
ทั้งนี้ การทำ IUI ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เนื่องจากการทำ IUI ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากได้ในบางกรณี การทำ IUI จึงไม่เหมาะกับ
- ฝ่ายหญิงที่ท่อนำไข่หรือปีกมดลูกอุดตันทั้งสองข้าง ทำให้อสุจิไม่สามารถเข้าถึงไข่ได้
- ฝ่ายหญิงที่มีพังผืดในอุ้งเชิงกรานจากภาวะเยื่อมดลูกเจริญผิดที่ระดับรุนแรง
- ฝ่ายชายไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อได้ หรือมีน้ำเชื้อน้อยกว่า 1 ล้านตัว
- ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง หรือทั้งสองฝ่าย ผ่านการทำหมันมาแล้ว
- เคยฉีดน้ำเชื้อมามากกว่า 3 – 6 รอบ แล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ
- มีแนวโน้มที่ตัวอ่อนจะเกิดโรคทางพันธุกรรม
ผู้ที่ไม่เหมาะจะทำ IUI แต่ต้องการมีลูก แพทย์จะแนะนำให้ทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีการทำ ICSI หรือที่เรียกว่าอิ๊กซี่ และทำ IVF แทน เนื่องจากทั้งสองวิธีไม่ต้องอาศัยท่อนำไข่ ท่อนำน้ำเชื้อ ใช้จำนวนอสุจิน้อย ทั้งยังสามารถตรวจโรคทางพันธุกรรมได้ก่อนการตั้งครรภ์ด้วย
โดยวิธีการทำ ICSI จะเป็นวิธีที่ให้ผลการรักษาสูงที่สุด มีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุด ผู้ที่สนใจควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกวิธีแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากที่เหมาะสมต่อไป
โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จหลังทำ IUI มีมากน้อยเพียงใด?
การทำ IUI สามารถเพิ่มโอกาสสำเร็จได้มากกว่าปกติประมาณ 5 – 6 เท่า โดยโอกาสสำเร็จจะอยู่ที่ประมาณ 15% ซึ่งโอกาสจะมากหรือน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำเชื้อจากฝ่ายชาย และไข่จากฝ่ายหญิง
ข้อดีของการทำ IUI
- เป็นวิธีการแก้ปัญหามีบุตรยากที่พื้นฐาน และใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด วิธีการไม่ยุ่งยาก และไม่เจ็บตัวเท่ากับการทำเด็กหลอดแก้ว
- ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว
- นิยมใช้ในการวางแผนมีบุตร ในครอบครัวที่ฝ่ายชายฝ่ายหญิงอาจจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน สามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้ในระยะเวลาที่ต้องการ โดยการฝากน้ำเชื้อแช่แข็งไว้
- ในบางกรณีสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ยากระตุ้น
ข้อจำกัดการทำ IUI
- ขั้นตอนการฉีดเชื้อผสมเทียมของการทำ IUI อาจทำให้ระคายเคืองที่ช่วงคลอดได้ อาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือไม่สบายตัว แต่ไม่มีผลกับการตั้งครรภ์
- อาจเกิดการตั้งครรภ์แฝด ที่เสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด และทารกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ซึ่งอันตรายกว่าครรภ์ปกติ เนื่องจากการฉีดยากระตุ้นไข่ตกอาจทำให้ไข่ตกออกมามากกว่า 1 ฟอง
- มีโอกาสเกิดการติดเชื้อ ในขั้นตอนการทำ IUI แต่ในกรณีนี้พบได้น้อยมาก
การเตรียมตัวก่อนทำ IUI
ก่อนการเตรียมตัวตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ หรือโดยวิธีการแก้ไข้ภาวะมีบุตรยาก ทั้ง IUI, IVF, และ ICSI แพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตและใช้วิตามินบำรุง เพื่อปรับปรุงคุณภาพของไข่จากฝ่ายหญิงและน้ำเชื้อจากฝ่ายชาย ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ และลดโอกาสเกิดความผิดปกติในทารกได้ด้วย โดยข้อควรปฏิบัติ มีดังนี้
ปรับเปลี่ยน Lifestyle
- เน้นทานอาหารโปรตีนสูง ผักผลไม้ให้มากขึ้น และสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย ลดอาหารจำพวกไขมัน แป้ง และน้ำตาล งดอาหารแปรรูป
- ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องครั้งละ 30 – 45 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 – 4 ครั้ง ควรเน้นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio Exercise) เช่น การวิ่ง การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เพราะจะช่วยให้เลือดสูบฉีด ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ รวมถึงรังไข่และลูกอัณฑะได้ดีขึ้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6 – 7 ชั่วโมง ควรเข้านอนก่อนเวลา 5 ทุ่ม เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายจะซ่อมแซมตัวเอง และยังเป็นช่วงที่จะหลั่งฮอร์โมนสำคัญออกมาอีกด้วย
- ผ่อนคลายความเครียด เพราะมีโอกาสจะทำให้ฮอร์โมนผิดปกติได้
ทานวิตามินหรืออาหารเสริมตามที่แพทย์แนะนำ
เมื่อปรึกษาแพทย์เรื่องการมีบุตร แพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิตามินให้ เนื่องจากแต่ละคนมีสาเหตุของการมีบุตรยากที่แตกต่างกันไป ส่วนวิตามินและอาหารเสริมที่แพทย์แนะนำให้ใช้โดยทั่วไป มีดังนี้
- อาหารเสริมสำหรับฝ่ายหญิง
- กรดโฟลิค (Folic acid) – ช่วยลดความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองของทารก
- แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10), วิตามินซี (Vitamin C) และ วิตามินอี (Vitamin E) – ช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่
- อาหารเสริมสำหรับฝ่ายชาย
- แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10), และสังกะสี (Zinc) – ช่วยเพิ่มคุณภาพและความเข้มข้นของน้ำเชื้อ ซึ่งค่อนข้างสำคัญต่อการทำ IUI
หลังผ่านช่วงก่อนการเตรียมตัวมาแล้ว จะเข้าสู่ช่วงการเตรียมตัวก่อนทำ IUI โดยแพทย์จะให้ตรวจเลือด โรคทั่วไป และตรวจคุณภาพน้ำเชื้อของเพศชาย เพื่อดูความเหมาะสมต่อการทำ IUI และดูโอกาสที่อาจเกิดการติดเชื้อโรคผ่านสารคัดหลั่ง หรือจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้

การเตรียมตัวสำหรับฝ่ายหญิง
- ตรวจเลือดชุดฝากครรภ์และโรคติดเชื้อ (Routine Blood work for female)
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count หรือ CBC)
- ตรวจหมู่เลือด (Blood group and Rh group)
- ตรวจเชื้อ HIV (Anti HIV)
- ตรวจเชื้อซิฟิลิส (Venereal Disease Research Laboratory test หรือ VDRL)
- ตรวจไวรัสตับอักเสบ (HBsAg และ Anti HCV)
- ตรวจโรคหัดเยอรมัน (Rubella IgG)
- ตรวจโรคธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing)
- ตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound หรือ TVS)
- ตรวจระดับฮอร์โมนในเลือด (Hormone Blood Tests)
- Estradiol (E2)
- Follicle Stimulating Hormone (FSH)
- Prolactin
- Luteinizing Hormone (LH)
- Anti-Mullerian Hormone (AMH)
การเตรียมตัวสำหรับฝ่ายชาย
- ตรวจเลือดทั่วไป พร้อมโรคต่างๆ (Routine Blood work for male)
- ตรวจเชื้อ HIV (Anti HIV)
- ตรวจเชื้อซิฟิลิส (Venereal Disease Research Laboratory test หรือ VDRL)
- ตรวจไวรัสตับอักเสบ (HBsAg และ Anti HCV)
- ตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ (Sperm Count)
- ข้อควรปฏิบัติก่อนการเก็บอสุจิ
- งดการมีเพศสัมพันธ์ หรือการหลั่งน้ำเชื้อเป็นเวลา 3 – 5 วัน ก่อนการเก็บน้ำเชื้อ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
- ทำความสะอาดมือและอวัยวะเพศให้สะอาดก่อนการเก็บน้ำเชื้อ
ขั้นตอนการทำ IUI
- เมื่อฝ่ายหญิง เริ่มมีประจำเดือนในวันที่ 2 – 3 ของรอบเดือน นับตั้งแต่ประจำเดือนวันแรก แพทย์จะให้เข้ามากระตุ้นไข่ โดยใช้
- ยาสำหรับกระตุ้นไข่ ใช้เพื่อให้ไข่ขยายตัวขึ้น จนได้ขนาดที่เหมาะสมต่อการผสมด้วยการทำ IUI ตัวยาจะเป็นฮอร์โมน มีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด บางครั้งใช้เพียงตัวเดียว บางครั้งต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้กำหนดว่าควรใช้ยาตัวไหนบ้าง ตัวอย่างยาเช่น Femara, Glucophage, และ Puregon เป็นต้น
- ยาสำหรับกระตุ้นให้ไข่ตก ฉีดเมื่อไข่ได้ขนาดที่พอดี โดยแพทย์จะติดตามดูผ่านอัลตราซาวด์ ส่วนใหญ่จะเริ่มติดตามตั้งแต่วันที่ 12 ของการมีประจำเดือน ตัวยาจะเป็นฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ตัวอย่างยา เช่น HCG, Ovidrel, และ Diphereline เป็นต้นหลังจากที่ทราบวันไข่ตกแล้ว แพทย์จะมานัดวันฉีดเชื้อผสมเทียมต่อไป
หลังจากที่ทราบวันไข่ตกแล้ว แพทย์จะมานัดวันฉีดเชื้อผสมเทียมต่อไป
- หลังจากฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกประมาณ 1 – 2 วัน แพทย์จะนัดหมายทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมาเพื่อเก็บน้ำเชื้อ และฉีดผสมเทียม หรือถ้าต้องการตั้งครรภ์โดยใช้น้ำเชื้อแช่แข็ง ฝ่ายชายก็ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ในวันที่ฉีดเชื้อผสมเทียม
- การเก็บน้ำเชื้อจากฝ่ายชายเพื่อการทำ IUI นั้น แพทย์จะให้ทำการหลั่งด้วยตนเอง จากนั้นจะนำน้ำเชื้อไปทำความสะอาด โดยการคัดอสุจิให้เหลือแค่ตัวที่สมบูรณ์และแข็งแรง ทำให้น้ำเชื้อเข้มข้นมากขึ้น ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง
- หลังได้น้ำเชื้อแล้ว แพทย์จะฉีดน้ำเชื้อผ่านช่องคลอดเข้าไปที่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิงโดยตรง ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 20 – 30 นาที ไม่ใช้ยาสลบ ฝ่ายหญิงอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อยจากเครื่องมือฉีดน้ำเชื้อ แต่หลังการทำอาการจะดีขึ้นและหายไปเอง
ขั้นตอนการปฏิบัติตัวหลังทำ IUI

การปฏิบัติตัวหลังทำ IUI ในช่วงวันแรก ฝ่ายหญิงควรนอนนิ่งๆ ขยับตัวน้อยๆ เพื่อให้อสุจิเคลื่อนที่เข้าไปที่ท่อนำไข่ได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
ข้อห้ามหลังฉีดเชื้อคือควรงดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้มดลูกถูกรบกวน ตัวอ่อนฝังตัวได้ดีขึ้น หลังจากทำ IUI 2 – 3 วันจึงจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ การมีเพศสัมพันธ์ในระยะนี้สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้
แต่ถ้าฝ่ายหญิงรู้สึกเจ็บที่บริเวณช่องคลอดเป็นเวลานาน หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อดูอาการ เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้
หลังทำ IUI ประมาณ 2 อาทิตย์ ให้ลองตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง ช่วง 2 อาทิตย์จะเป็นช่วงที่เร็วที่สุดที่สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้แม่นยำ หากตรวจก่อนช่วงเวลานี้อาจให้ผลคลาดเคลื่อนได้
อาจตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ทั้งที่จริงแล้วกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ อาจจะยังเพิ่มระดับขึ้นมาไม่มากพอที่จะตรวจพบได้ ในขณะเดียวกันก็อาจจะตรวจพบการตั้งครรภ์ทั้งๆที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ จากระดับฮอร์โมน HCG ที่ฉีดเพื่อให้ไข่ตกยังไม่ลดระดับลง ทำให้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ให้ผลที่ผิดพลาดได้
เมื่อตรวจตั้งครรภ์แล้ว แพทย์อาจจะให้มาตรวจเลือดที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพราะการตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดจะให้ผลที่แม่นยำได้มากกว่าการตรวจปัสสาวะด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์ปกติ
หากไม่ตั้งครรภ์ แพทย์อาจจะแนะนำฉีดเชื้อ IUI ซ้ำประมาณ 3 – 6 ครั้ง หากยังตั้งครรภ์ไม่สำเร็จแพทย์ก็จะพิจารณาให้ทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีการ IVF หรือ ICSI ต่อไป
ค่าใช้จ่ายในการทำ IUI ราคาเท่าไหร่?
ฉีดเชื้อ ทำ IUI ราคารวมทั้งโปรแกรมจะอยู่ที่ประมาณ 22,644 – 33,817 บาท ขึ้นอยู่กับยาที่แพทย์พิจารณาให้ใช้ จำนวนครั้งที่ต้องพบแพทย์ และตัวเลือกการแช่แข็งน้ำเชื้อ
หากสนใจการทำ IUI สามารถเข้ามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอชก่อนได้ เพื่อพิจารณาวิธีการแก้ไขภาวะมีบุตรยาก ที่เหมาะสมกับคู่สมรสแต่ละคู่ต่อไป
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการทำ IUI เพิ่มเติม : รายละเอียด Package การทำ IUI
คำถามเกี่ยวกับการทำ IUI ที่พบบ่อยจากคนไข้
Q:อายุเกิน 35 ปี ทำ IUI ได้ไหม?
A:อายุเกิน 35 ปี สามารถทำ IUI ได้ แต่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้น้อยกว่าผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปีจะมีภาวะมดลูกเสื่อม อีกทั้งรังไข่ยังเหลือไข่จำนวนไม่มาก ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์จากการทำ IUI น้อยกว่าปกติ วิธีการที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปี จึงจะเป็นการทำเด็กหลอดแก้วอย่าง IVF หรือ ICSI มากกว่า
ทั้งนี้ แม้จะทำเด็กหลอดแก้วได้ แต่โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จก็จะน้อยกว่าผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปีอยู่ดี ดังนั้นผู้ที่ต้องการมีลูกควรมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หากพยายามมีลูกด้วยวิธีการตามธรรมชาติแล้วไม่มีลูก เป็นเวลาประมาณ 6 – 12 เดือน ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยากได้แล้ว
Q:ทำหมันแล้ว ทำ IUI ได้ไหม?
A:ทำหมันแล้ว ไม่ว่าจะฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง ไม่สามารถทำ IUI ได้ เนื่องจากการทำหมันมักเป็นการทำให้ท่อนำไข่และท่อนำน้ำอสุจิอุดตัน ส่งผลให้ไม่มีโอกาสที่อสุจิกับไข่จะเข้าไปผสมกันโดยธรรมชาติ ทางเลือกสำหรับผู้ที่ทำหมันแล้วจึงมีเพียงการทำเด็กหลอดแก้วอย่าง ICSI และ IVF เท่านั้น
Q:อาการหลังทำ IUI แล้วท้อง เป็นอย่างไร?
A:อาการหลังทำ IUI แล้วท้องจะอาการเหมือนคนท้องปกติ ส่วนใหญ่ที่สังเกตได้ง่ายคือประจำเดือนไม่มาตามเวลา โดยส่วนใหญ่แล้ว การฉีด IUI จะทำประมาณวันที่ 13 – 14 ของการมีประจำเดือน เมื่อรอให้ครบ 2 อาทิตย์เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ก็อาจจะเลยวันที่ควรจะมีประจำเดือนมาประมาณ 1 – 2 วัน หากประจำเดือนไม่มาก่อนการตรวจตั้งครรภ์ ก็มีแนวโน้มว่าจะตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ควรตรวจเลือดโดยแพทย์อีกครั้งเพื่อยืนยันผลให้ชัดเจน
Q: การทำ IUI เลือกเพศลูกได้ไหม?
A: การทำ IUI ไม่สามารถเลือกเพศลูกได้ เนื่องจากเป็นการปฏิสนธิโดยธรรมชาติ กระบวนการปฏิสนธิไม่ได้เกิดขึ้นในห้องทดลอง และตัวอ่อนไม่ได้อยู่ภายนอกร่างกาย จึงไม่สามารถเลือกเพศ หรือทราบเพศก่อนการตั้งครรภ์ได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกฎหมายของประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้เลือกเพศลูกจากการทำเด็กหลอดแก้วได้ จึงไม่สามารถเลือกเพศจากวิธีการผสมเทียมใดๆ ได้เลย
Q: การทำ IUI สามารถมีลูกแฝดได้ไหม?
A: การทำ IUI สามารถทำให้เกิดลูกแฝดได้ แต่ไม่สามารถควบคุมให้เกิดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงได้ ส่วนโอกาสเกิดแฝดนั้น สามารถเกิดได้ทั้งแฝดไข่คนละใบ และแฝดไข่ใบเดียวกัน เนื่องจากขั้นตอนการฉีดกระตุ้นไข่ตก อาจทำให้ไข่ถูกกระตุ้นได้มากกว่า 1 ฟอง จนไข่ตกมากกว่า 1 ฟอง มีโอกาสเกิดการปฏิสนธิกับไข่ทั้งสองใบหรือมากกว่านั้น จนเกิดครรภ์แฝด
นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดแฝดจากไข่ใบเดียวกันได้เหมือนกับการตั้งครรภ์ปกติตามธรรมชาติ ทำให้การทำ IUI สามารถเกิดครรภ์แฝดได้นั้นเอง
สรุป
การทำ IUI เป็นการฉีดเชื้อผสมเทียมในวันที่ตกไข่โดยตรง ทำให้มีโอกาสท้องมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติ หรือการนับวันมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ IUI มีข้อจำกัดในผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากบางกรณี ทำให้แม้จะพยายามทำหลายรอบก็ไม่สำเร็จ
ดังนั้น หากสงสัยว่าตนเองมีภาวะการมีบุตรยาก เคยทำ IUI มาแล้วหลายรอบไม่ได้ผล ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจอวัยวะสืบพันธุ์อย่างละเอียด ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพื่อให้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลาไปกับวิธีการผสมเทียมที่ทำกี่ครั้งก็อาจไม่ได้ผลเลยแม้แต่น้อย
แนะนำประสานงานโดยทีมงาน โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
ที่มีประสบการณ์ดูแลกลุ่มคนไข้ภาวะมีบุตรยากนานกว่า 15 ปี
