ภาวะมีบุตรยากคืออะไร? มีสัญญาณอะไรบ้าง มีลูกยากอยากมีลูกต้องทำอย่างไร?
ภาวะมีบุตรยาก หรือมีลูกยาก อยากมีลูกเป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อคู่สมรส การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อภาวะการเจริญเติบโตและการตั้งครรภ์ของผู้หญิง ส่งผลให้คู่สมรสหลายคู่เริ่มเข้าสู่ภาวะมีบุตรยากกันมากขึ้น
ในบทความนี้ ทีม BNH Hospital จะพามาเจาะลึกกับภาวะมีบุตรยากว่า ภาวะมีบุตรยากคืออะไร สาเหตุมาจากอะไร มีสัญญาณอะไรบ่งบอกบ้าง? รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะมีลูกยากนี้
ภาวะมีบุตรยากคืออะไร?
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือการที่คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และไม่มีการคุมกำเนิดติดต่อกันประมาณ 1 ปี แล้วยังไม่เกิดการตั้งครรภ์จะเข้าข่ายภาวะมีบุตรยาก หรือผู้หญิงที่มีอายุเกิน 40 ปี ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจมีบุตร จะเริ่มเข้าสู่ภาวะมีลูกยากเช่นกัน
สัญญาณของภาวะมีบุตรยากมีอะไรบ้าง
สัญญาณของภาวะมีบุตรยากสามารถสังเกตได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น คู่สมรสที่พยายามจะมีลูกมากกว่า 1 ปี แล้วยังไม่ท้อง คนในครอบครัวมีประวัติการมีลูกยาก คู่สมรสมีประวัติการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือปัญหาสุขภาพจากฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย
หากพบสัญญาณปัญหาเหล่านี้ คู่สมรสที่อยากมีลูกควรเข้าปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุดเพื่อรับคำแนะนำอย่างถูกต้อง เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาภาวะมีบุตรยาก และเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ไม่ควรปล่อยให้เวลาผ่านไปนานหลายเดือนหรือหลายปี
สัญญาณภาวะมีบุตรยากในฝ่ายหญิง
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนหมดก่อนวัยอันควร
- ปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน
- เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้ท่อนำไข่อุดตัน
- เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน
- มีประวัติการแท้งบุตร
- เคยติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ส่งผลให้มีลูกยาก
สัญญาณภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย
- มีน้ำอสุจิน้อย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งน้ำอสุจิ
- มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- เคยติดเชื้ออัณฑะอักเสบ หรือเคยผ่าตัดบริเวณถุงอัณฑะ ซึ่งจะมีผลต่อการหลั่งน้ำอสุจิ
- เคยติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หรือโรคติดเชื้อคลาไมเดีย เพราะอาจทำให้ทางเดินน้ำอสุจิเกิดภาวะตีบแคบ ส่งผลให้มีปัญหาในการสร้างเชื้ออสุจิ
ภาวะมีบุตรยากถือว่าเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปไหม?
ในปัจจุบันภาวะมีบุตรยากถือว่าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการดำเนินชีวิตของคนมีการเปลี่ยนแปลงไป หลายๆ คนยังไม่พร้อมจะแต่งงาน หรืออยากมีลูกด้วยปัจจัยต่างๆ เมื่อพร้อมเริ่มสร้างครอบครัวก็มีอายุเกิน 30 ปีแล้ว
แต่สภาพร่างกายของคนเรานั้นเมื่ออายุเกิน 30 ปี กลับเริ่มถดถอยลง โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่รังไข่จะมีคุณภาพน้อยลงและมีจำนวนไข่ลดลงเรื่อยๆ เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีลูกยาก
สาเหตุภาวะมีบุตรยากเกิดจากอะไร?
ภาวะมีบุตรยากสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ พบได้บ่อยจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยภาวะมีลูกยากจะเริ่มพบเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป ปัญหาร่างกายจำพวกระบบสืบพันธุ์ต่างๆ จากฝ่ายหญิงประมาณ 20% และปัญหาจากฝ่ายชาย เช่น ปัญหาอสุจิ ประมาณ 30-40% หรือจากทั้งสองฝ่ายร่วมกัน รวมถึงไม่ทราบสาเหตุอีกประมาณ 5-10%
นอกจากนี้สาเหตุของภาวะมีลูกยากยังรวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของฝ่ายหญิงและฝ่ายชายด้วย เช่น ติดแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่มากจนเกินไป หรือความเครียด สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ฝ่ายชายมีอสุจิน้อยลง การทำงานของรังไข่ในฝ่ายหญิงผิดปกติ เป็นต้น
โดยสาเหตุของภาวะมีบุตรยากจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีดังต่อไปนี้
สาเหตุจากฝ่ายชาย (Male Factor)
- ปัญหาอสุจิ เช่น ปริมาณตัวอสุจิน้อย หรือตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิ การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen Analysis) จะช่วยบอกถึงสุขภาพของอสุจิ ตัวอสุจิ รูปร่าง ความเข้มข้น การเคลื่อนที่ โดยตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ แม้ว่าฝ่ายชายจะมีปัญหาอสุจิก็สามารถมีบุตรได้ หากเข้ารับการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดเพื่อการรักษาอย่างถูกต้อง และเหมาะสม
- การติดเชื้อที่ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ และระบบอวัยวะเพศ เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ โรคเริมอวัยวะเพศ โรคหนองใน เพราะอาจทำให้ทางเดินน้ำอสุจิเกิดภาวะตีบแคบ ส่งผลให้มีปัญหาในการสร้างเชื้ออสุจิ
- ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ (Hypogonadism) ส่งผลให้ลูกอัณฑะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างปกติ
- เส้นลำเลียงน้ำเชื้ออสุจิโป่งพอง (Varicocele) ทำให้ขัดขวางการเคลื่อนที่ของอสุจิ
- โรคต่างๆ ที่มีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ เช่น โรคตับ โรคไต โรคเม็ดเลือดขาวรูปเคียว เป็นต้น
- ขาดสารบางอย่าง เช่น สาร Folic Acid หรือ Lycopene ซึ่งพบมากในผักใบเขียว มะเขือเทศ
- ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เช่น การหลั่งเร็ว หรือการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- ปัจจัยต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เช่น การรักษาโรคด้วยรังสี การได้รับสารพิษอย่างตะกั่ว หรือยาฆ่าแมลง มีการใช้สารเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รวมถึงออกกำลังมากไปก็อาจทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนต่ำ การผลิตอสุจิลดลง อีกทั้งอาบน้ำร้อนบ่อยๆ ก็ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย
สาเหตุจากฝ่ายหญิง (Female Factor)
- ปัญหาภาวะไม่ตกไข่ (Anovulation) หรือภาวะตกไข่ผิดปกติ (Ovulation disorder) คือการที่ไม่มีไข่ตกออกมาจากรังไข่ เมื่อไข่ไม่ตกก็จะทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาผิดปกติ หากรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 36 วัน อาจเป็นสัญญาณของการมีภาวะตกไข่ผิดปกติ ถ้าฝ่ายหญิงไม่รักษาภาวะไข่ตกนี้อาจมีโอกาสการตั้งครรภ์ลดน้อยลง เพราะมีการตกไข่น้อยกว่าปกติ
- ปัญหาบริเวณท่อนำไข่ (Tubal Factor) ท่อนำไข่นั้นเป็นอวัยวะสำคัญที่ไข่กับอสุจิจะมาพบกันเพื่อปฏิสนธิ หากท่อนำไข่มีความผิดปกติ เช่น ท่อนำไข่มีการตีบตัน ไข่จะไม่สามารถเดินทางมาปฏิสนธิกับอสุจิได้ หรือถ้าเกิดการปฏิสนธิขึ้น ตัวอ่อนก็จะไม่สามารถเดินทางมาฝังตัวที่มดลูก ส่งผลให้เกิดการท้องนอกมดลูกได้ อีกหนึ่งปัญหาบริเวณท่อนำไข่ที่ส่งผลให้มีลูกยากคือ ท่อนำไข่อุดตันจากการทำหมัน หรืออุดตันจากการอักเสบติดเชื้อ การผ่าตัดอุ้งเชิงกราน รวมถึงภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ความผิดปกติของมดลูก เช่น การมีติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (Endometrial polyp) เนื้องอกในโพรงมดลูก (Submucous Myoma) พังผืดในโพรงมดลูก (Intrauterine Adhesion) ก่อนรักษาภาวะมีลูกยากควรทำการผ่าตัดก่อนการรักษา เพื่อเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์
- ภาวะประจำเดือนหมดก่อนวัย หรือวัยทองก่อนวัยอันควร ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุมีบุตรยากของฝ่ายหญิง เนื่องจากมดลูกและรังไข่ทำงานผิดปกติ ฟองไข่ในรังไข่สลายเร็วกว่าปกติ หรือมีไข่ในฟองไข่แต่ไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ ปกติแล้วอาการวัยทองจะเริ่มเกิดขึ้นในผู้หญิงอายุ 45-50 ปี แต่ภาวะประจำเดือนหมดก่อนวัยอันควรนี้สามารถเกิดได้ในอายุต่ำกว่า 30 ปี
คู่สมรสหรือฝ่ายหญิงที่วางแผนอยากมีลูกในอนาคตควรเข้ารับการ ฝากไข่ ในขณะอายุยังน้อยเพื่อรักษาไข่ที่ยังสมบูรณ์ไว้ เพราะอายุที่มากขึ้นจะส่งผลให้ฝ่ายหญิงมีลูกยาก
ภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ (Unexplained Infertility)
ภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุสามารถพบได้ร้อยละ 5-10 ของคู่สมรสทั้งหมด โดยภาวะมีลูกยากแบบไม่ทราบสาเหตุนี้คือการที่คู่สมรสได้รับการตรวจร่างกายหาเพื่อหาสาเหตุของการมีลูกยากทั้งหมดแล้ว เช่น ตรวจหาความผิดปกติบริเวณอุ้งเชิงกราน ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ตรวจวิเคราะห์คุณภาพของอสุจิ เป็นต้น แต่ไม่พบความผิดปกติใดๆ ส่วนมากภาวะมีบุตรยากแบบไม่ทราบสาเหตุมักจะพบในระหว่างการทำเด็กหลอดแก้วจากขั้นตอนการปฏิสนธิ
ทั้งนี้เพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก คู่สมรสที่อยากมีลูกควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
อายุเท่าไรควรไปตรวจภาวะผู้บุตรยาก?
ถ้าอยากมีลูก เมื่อไหร่ถึงควรไปตรวจภาวะมีบุตรยาก? สำหรับคู่สมรสอายุที่น้อยกว่า 35 ปี พยายามมีบุตรมาเป็นเวลา 12 เดือน แล้วยังไม่ตั้งครรภ์ และคู่สมรสที่อายุมากกว่า 35 ปี พยายามจะมีบุตรมาเป็นเวลา 6 เดือน แล้วยังไม่เกิดการตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจภาวะมีบุตรยาก
การวินิจฉัยของแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก
การตรวจวินิจฉัยของแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากในฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะแตกต่างกันไป โดยเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติคู่สมรส ตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น ตรวจเลือด ตรวจฮอร์โมน ตรวจหาโรคทางพันธุกรรม เป็นต้น นอกจากนี้อาจรวมถึงการตรวจพิเศษเพิ่มเติมทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ดังนี้
การตรวจภาวะมีบุตรยากฝ่ายชาย
- การตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเชื้อ (Semen Analysis)
การ ตรวจอสุจิ (Semen Analysis) เป็นการตรวจหาสาเหตุของการมีลูกยากในฝ่ายชาย โดยจะตรวจอสุจิหลักๆ คือ ปริมาณน้ำอสุจิ (Volume) จำนวนตัวอสุจิ (Number of sperm) รูปร่างของอสุจิ (Shape of sperm) และการเคลื่อนที่ของอสุจิ (Sperm Motility) เพื่อนำผลอสุจิไปวินิจฉัยและช่วยวางแผนรักษาภาวะมีบุตรยากให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผลตรวจอสุจิที่ผิดปกติ หรือไม่ผ่านเกณฑ์จะมีปัญหาเรื่องตัวอสุจิไม่สามารถเข้าถึงไข่ได้ หรือเข้าถึงไข่ได้ยาก ทำให้เป็นสาเหตุของภาวะมีลูกยาก
- การตรวจดูฮอร์โมน FSH
การตรวจดูฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) สำหรับผู้ชายเป็นการตรวจเพื่อหาสาเหตุมีลูกยาก ตรวจหาสาเหตุของการสร้างตัวอสุจิ และตรวจดูลูกอัณฑะว่ามีปัญหาหรือไม่ การตรวจดูฮอร์โมน FSH จะช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติของฮอร์โมน FSH หากค่าฮอร์โมนนี้สูงหมายถึง ลูกอัณฑะไม่สามารถสร้างตัวอสุจิได้ แต่ถ้าค่าฮอร์โมน FSH ต่ำหมายถึง ต่อมใต้สมองมีความผิดปกติทำให้มีการสร้างตัวอสุจิน้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย
การตรวจภาวะมีบุตรยากฝ่ายหญิง
- การตรวจระดับฮอร์โมนต่างๆ
การตรวจดูระดับฮอร์โมนในฝ่ายหญิง เช่น ฮอร์โมน FSH ฮอร์โมน AMH และฮอร์โมน LH เป็นการตรวจหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
- ฮอร์โมน FSH เป็นการดูการทำงานของรังไข่ว่ามีปัญหาหรือไม่ หากระดับฮอร์โมนต่ำกว่า 4 mIU/ml หมายถึงไข่มีขนาดเล็ก ส่งผลให้มีลูกยาก
- ฮอร์โมน AMH เป็นการตรวจประเมินความสามารถในการทำงานของรังไข่ และประเมินหาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Ploycystic Ovary Syndrome: POCS) รวมถึงยังช่วยประเมินหาภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก
- ฮอร์โมน LH เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นรังไข่ เรียกว่า การตกไข่ หากไม่มีฮอร์โมนนี้ก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หากค่าของฮอร์โมน LH สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป อาจเป็นสัญญาณของรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร หรือมีภาวะรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ เป็นต้น
- การฉีดสีดูท่อนำไข่และโพรงมดลูก (HSG)
การฉีดสีดูท่อนำไข่และโพรงมดลูกจะช่วยดูลักษณะภายในมดลูกและปีกมดลูกว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ทำได้โดยการฉีดสีผ่านทางช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก และจะทราบความผิดปกติผ่านทางภาพเอกซเรย์ เช่น มีติ่งเนื้อภายในมดลูก มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ หรือท่อรังไข่อุดตัน รวมไปถึงตรวจดูพังผืดบริเวณท่อนำไข่ สาเหตุของการมีบุตรยาก
- การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Diagnostic Hysteroscopy)
การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเป็นวิธีที่จะช่วยให้แพทย์มองเห็นภายในโพรงมดลูกในฝ่ายหญิง เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่นมีเนื้องอก มีติ่งเนื้อภายในโพรงมดลูก มีผนังกั้นในโพรงมดลูก เป็นต้น
- การอัลตราซาวด์มดลูกและรังไข่ (TVS)
การตรวจอัลตราซาวด์ดูมดลูกและรังไข่จะช่วยตรวจหาความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ เพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก เช่น มะเร็งปากมดลูก ถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ เนื้องอกในมดลูก รวมถึงก้อนเนื้อภายในอุ้งเชิงกราน
วิธีแก้ไขภาวะการมีบุตรยาก
อยากมีลูก มีลูกยากต้องทำอย่างไร? วิธีมีลูก หรือวิธีแก้ไขภาวะการมีบุตรยากในปัจจุบันได้มีการนำเอาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เข้ามาช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากเพื่อช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว ICSI หรือ IVF รวมไปถึงการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง หรือ IUI อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยหาสาเหตุ และคัดกรองความผิดปกติของพันธุกรรมก่อนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกอีกด้วย เช่น การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน NGS PGD PGS เพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมอีกด้วย
IVF
IVF (In Vitro Fertilization) หรือการทำเด็กหลอดแก้ว IVF เป็นการนำเอาเซลล์ไข่และอสุจิมาปฏิสนธิกันนอกร่างกายเพื่อให้ได้ตัวอ่อน จากนั้นจึงค่อยย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก วิธีทำเด็กหลอดแก้ว IVF นี้เหมาะกับคู่สมรสที่มีภาวะมีลูกยาก หรือเสี่ยงต่อการส่งต่อโรคทางพันธุกรรม รวมถึงคู่สมรสที่เคยผ่านการผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรงมาแล้วแต่ไม่ได้ผล (IUI)
ICSI
ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ICSI เป็นกระบวนการช่วยปฏิสนธิภายนอกร่างกายที่ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์มากที่สุด เนื่องจากการทำ ICSI จะใช้เชื้ออสุจิ 1 ตัว ฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบ นิยมใช้แก้ปัญหาเมื่อทำ IVF ไม่สำเร็จ
การทำ ICSI เหมาะสำหรับฝ่ายชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ เช่น มีจำนวนตัวอสุจิน้อย อสุจิไม่แข็งแรง เป็นต้น นอกจากนี้การทำเด็กหลอดแก้ว ICSI ยังสามารถตรวจหาความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรมก่อนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกได้ เช่น การตรวจคัดกรองโครโมโซม NGS PGD PGS เหมาะสำหรับคู่สมรสที่เสี่ยงต่อการส่งต่อโรคทางพันธุกรรม
IUI
IUI (Intrauterine insemination) เป็นการรักษาภาวะมีลูกยาก โดยการฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ การทำ IUI จะมีโอกาสการตั้งครรภ์น้อยกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว ICSI หรือ IVF การฉีดเชื้อ IUI เหมาะสำหรับกรณีคุณภาพอสุจิของฝ่ายชายอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือมีความผิดปกติเล็กน้อย หรือคู่สมรสมีบุตรยากแบบหาสาเหตุไม่ได้
PESA/TESE
การทำ PESA/TESE เป็นการแก้ไขภาวะมีลูกยากในฝ่ายชายโดยการเก็บอสุจิจากอัณฑะโดยตรง มีวิธีการใช้เข็มเจาะที่ท่อพักน้ำเชื้อเพื่อดูดเอาเชื้ออสุจิออกมา เรียกกันว่าการทำ PESA แต่ในกรณีที่ดูดเอาเชื้ออสุจิออกมาแล้วมีน้อยหรือไม่มีเลย แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเอาอสุจิออกมาจากเนื้ออัณฑะ หรือวิธีการทำ TESE
ภาวะมีบุตรยากถือว่าเป็นกรรมพันธ์ุหรือไม่?
ภาวะมีบุตรยากเป็นกรรมพันธุ์หรือไม่? ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการมีบุตรยากนั้นคือการที่คู่สมรสพยายามอยากมีลูกมานาน โดยไม่มีการป้องกันเป็นเวลามากกว่า 1 ปี แล้วยังไม่ตั้งครรภ์
ซึ่งสาเหตุของการมีลูกยากอาจมาจากหลายปัจจัยทั้งฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย หรือไม่ทราบสาเหตุ เช่น ฝ่ายหญิงมีปัญหาท่อนำไข่อุดตัน หรือมีมดลูกที่ผิดปกติ ส่วนฝ่ายชายมีอสุจิที่ไม่แข็งแรง อาจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าสาเหตุของการมีบุตรยากไม่ได้มาจากกรรมพันธุ์โดยตรง ยกเว้นในกรณีที่คู่สมรสมีโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้โครโมโซมหรือโครงสร้างร่างกายผิดปกติไป จะถือเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมไม่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์โดยตรง
ทั้งนี้การหาสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะมีบุตรยาก คู่สมรสควรเข้าพบสูตินรีแพทย์ที่ศูนย์รักษามีบุตรยากเพื่อหาตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
สรุป
ภาวะมีบุตรยากถือว่าเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน เนื่องจากการดำเนินชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไป คู่สมรสที่อยากมีลูกมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีการคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานเกิน 1 ปี แล้วยังไม่มีการตั้งครรภ์ถือว่าเข้าข่ายภาวะมีบุตรยาก คู่สมรสที่วางแผนมีบุตรควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของการมีลูกยากที่แน่ชัด
เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้กับผู้มีลูกยาก ทั้งการทำเด็กหลอดแก้ว IVF หรือ ICSI การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (IUI) รวมถึงเทคโนโลยีการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมก่อนการย้ายตัวอ่อน
BNH Hospital เราให้การดูแลและคำปรึกษาเบื้องต้นด้านการมีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรีผ่าน BDMS Wellness Clinic ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากที่แนะนำประสานงานโดย โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
เรามีทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาและการเจริญพันธุ์ มีความชำนาญดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงรักษาภาวะมีบุตรยากโดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเด็กหลอดแก้ว และการคัดกรองโรคพันธุกรรมตัวอ่อน
BNH Hospital พร้อมให้การดูแลทุกขั้นตอนด้วยบริการระดับสากล เราให้ความสำคัญกับคุณค่าของสุขในชีวิตที่ทุกคนปรารถนา เพราะเราเชื่อว่าครอบครัวคือพื้นฐานที่สำคัญ
สามารถติดต่อรับคำปรึกษาภาวะมีบุตรยากได้ที่ BNH Hospital
อ้างอิง
Brazier Y. (2022, June 30). Infertility in males and females. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/165748#risk-factors
Hoffman M. (2021, August 9). Fertility Tests for Women. WebMD. https://www.webmd.com/infertility-and-reproduction/guide/fertility-tests-for-women1