
คลิกเลือกอ่านข้อมูลมะเร็งลำไส้ใหญ่ตามหัวข้อที่ท่านสนใจ
อีกหนึ่งในมะเร็งร้ายใกล้ตัว ที่มักมาแบบไม่มีสัญญาณเตือน คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณส่วนปลายของระบบทางเดินอาหาร จากสถิติพบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยในเพศชายเป็นอันดับที่2รองจากมะเร็งตับและพบบ่อยในเพศหญิงเป็นอันดับที่3 รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก
นอกจากนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ยังเป็นหนึ่งในโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกด้วย แม้ว่าจะพบมากในกลุ่มคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันพบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมักไม่แสดงอาการในช่วงแรก โดยทั่วไป กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็มักพบในระยะที่ 3 – 4 แล้ว ทำให้ยากต่อการรักษาและมีโอกาสเสียชีวิตสูง

คุณรู้หรือไม่ว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่….. ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งดี เพราะมีโอกาสรักษาหายได้ ดังนั้น การตรวจเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยวิธีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นประจำ หรือ มาพบแพทย์ทันทีที่เริ่มมีอาการผิดปกติเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
คุณมีสัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้เหล่านี้บ้างหรือไม่ ?

- ขับถ่ายผิดปกติ (ท้องผูกสลับท้องเสีย)
- ถ่ายไม่สุด / อุจจาระลำบากหรืออุจจาระลำเล็กลง / ปวดเบ่งในช่องทวารหนัก
- ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปน
- ปวดท้องเรื้อรัง
- อาจคลำเจอก้อนในช่องท้อง
- อาการอื่นๆที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด






มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจาก
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ใหญ่ที่เกิดการกลายพันธุ์ โดยมีการแบ่งตัวและเพิ่มขึ้นของขนาดเยื่อบุอย่างรวดเร็ว เมื่อเซลล์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็จะเกิดเป็นติ่งเนื้อหรือเนื้องอกขึ้นในลำไส้ และค่อยๆใหญ่ขึ้นจนพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเซลล์มะเร็งจะลามไปยังชั้นกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆของลำไส้ผ่านท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือดและลุกลามไปที่อวัยวะอื่นๆของร่างกาย เช่น ลุกลามไปที่ตับหรือปอด
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ที่จากการศึกษาพบว่าประชากรที่รับประทานผักผลไม้ยิ่งมากเท่าไร ยิ่งลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากเท่านั้น
โดยปกติโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเพิ่มขึ้นตามวัย คือมียิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้สูงขึ้น และในปัจจุบันคนไทยเริ่มมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตและบริโภคอาหารแบบชาวตะวันตก ทำให้อัตราการพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรไทยที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี เพิ่มสูงขึ้น
มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถตรวจพบได้จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยอัตราการรอดชีวิตและโอกาสหายขาดจากโรคนี้มักขึ้นอยู่กับระยะที่ตรวจพบด้วย ซึ่งเราสามารถแบ่งระยะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ออกได้เป็น 4 ระยะดังนี้

ระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่
ระยะที่ 1 (ระยะแรก) เป็นระยะที่ยังไม่มีการลุกลาม สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด และหายขาดได้ มีอัตราการรอดชีวิต 80-95%
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เริ่มลุกลาม เซลล์มะเร็งจะเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และอาจลามไปถึงเยื่อหุ้มลำไส้ เนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ หรือ อวัยวะข้างเคียง มีอัตราการรอดชีวิต 55-80% ในการรักษาจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบผ่าตัดควบคู่ไปกับการทำเคมีบำบัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสหายขาดได้ 80-90%
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่เริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ในการรักษาจะต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกให้มากที่สุด และทำเคมีบำบัดเพื่อไม่ให้มะเร็งฟื้นตัว และกลับมาลุกลาม มีอัตราการรอด 40%
ระยะที่ 4 (ระยะแพร่กระจาย) ถือเป็นระยะที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ปอด หรือกระดูก ซึ่งการรักษาระยะนี้ต้องทำการผ่าตัดโดยการตัดอวัยวะบางส่วนที่พบเซลล์มะเร็งออก และทำเคมีบำบัดร่วมด้วย มีอัตราการรอดเพียงชีวิต 10% ในมะเร็งลำไส้ระยะที่ 4 นี้หากได้รับการรักษาที่ต่อเนื่องโอกาสหายขาดเทียบเท่ากับระยะที่ 3
ทำไมต้องตรวจคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิต แต่ถ้าตรวจพบเร็ว และได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้
จากข้อมูลสถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2563 พบว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่า 72.7% จะทราบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็มักพบในระยะ 3 -4 ซึ่งทำให้โรคมะเร็งลำไส้จัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ที่กำลังคุกคามชีวิตคนไทย
มีการพบติ่งเนื้อชนิด adenoma ซึ่งเป็นติ่งเนื่อที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มีข้อมลูดังนี้
- อัตราการตรวจพบติ่งเนื้อชนิด Adenoma {Adenoma detection rate }= 55.54% ตั้งแต่ปี 2018-2021 คิดเป็น1 ราย จากการตรวจ 2 ราย
- และอัตราการตรวจพบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ Colon Cancer = 2.46% คิดเป็น 1 ราย จากการตรวจ 41 ราย
* สถิติอัตราการพบติ่งเนื้อนั้น นอกจากจะมาจากความผิดปกติของคนไข้นั้น อีกปัจจัยที่สำคัญคือความชำนาญของทีมแพทย์ที่ทำการส่องกล้อง ร่วมกับเครื่องมือที่ทันสมัยด้วย เพราะการตรวจไม่พบติ่งเนื้ออาจไม่ได้หมายถึงไม่มีติ่งเนื้อ ดังนั้นการเลือกคุณหมอที่มีความชำนาญ และเครื่องมือที่ทันสมัย จึงเป็นอีก 1 เรื่องที่สำคัญ หากตรวจพบติ่งเนื้อตั้งแต่ระยะแรกก็สามารถทำการรักษาได้เลย จึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้
3 วิธี รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
1. การผ่าตัด
เป็นการรักษาหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ การผ่าตัด เอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองออกไป ในบางครั้งถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามมาก หรือมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่อยู่ติดกับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียมเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก
2. การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
เป็นการให้ยาสารเคมี ซึ่งอาจให้ก่อนการผ่าตัดและหรือหลังผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้ การใช้เคมีบำบัดก็จะขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
3. การฉายแสง (รังสีรักษา)
เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นรายๆ ไป โดยแพทย์จะประเมินจากลักษณะการลุกลามของก้อนมะเร็งและโอกาสการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
แพทย์จะเลือกการรักษาใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นเซลล์มะเร็งมากน้อยเพียงใด มีการลุกลาม แพร่กระจายหรือไม่ และประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วยว่าเหมาะสมกับวิธีใดมากที่สุด

คำถามที่พบบ่อย
Q : หากแพทย์พบติ่งเนื้อจะทำอย่างไร
A : แพทย์สามารถทำการตัดได้ทันที ผ่านการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ และส่งตรวจติ่งเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป
Q : หากพบติ่งเนื้อและตัดออกมาได้ จะรักษามะเร็งได้ไหม
A : ข้อมลูพบว่าการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และตัดติ่งเนื้อสม่ำเสมอ สามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ถือเป็นการตรวจที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างดี

สรุป
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่มีแนวโน้มตรวจพบมากขึ้นโดยในประชากรไทย พบเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีประวัติการขับถ่ายที่ผิดปกติ และมีความเสี่ยงมากขึ้นในกลุ่มประชากรที่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง (Colonoscopy) เป็นวิธีการตรวจที่ได้มาตรฐานและอันตรายน้อยที่สุด เนื่องจากไม่เจ็บ ใช้เวลาไม่นาน และไม่เสียเวลาพักฟื้น ในระหว่างที่ทำการส่องกล้องหากพบ ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ แพทย์สามารถทำการตัดติ่งเนื้อนั้นได้ทันที และหากติ่งเนื้อนั้นเป็นชนิดที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นอีก1วิธีในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มแรก