วัคซีนคือ สารผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน การแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 1 ต่อ การฉีดวัคซีนล้านโด๊ส (0.90-1.84 ต่อ การฉีดวัคซีนล้านโด๊ส)
ขณะนี้วัคซีนต่อเชื้อ SARS-CoV-2 (COVID-19) เริ่มมีการผลิตและเตรียมใช้อย่างแพร่หลาย และเริ่มมีการรายงานผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีน เราจึงควรมีความเข้าใจเรื่องการแพ้วัคซีน ก่อนการใช้ยาอย่างเหมาะสม
ลักษณะอาการแพ้วัคซีน สามารถแบ่งเป็น
- อาการแพ้ชนิดเฉียบพลัน มีอาการลมพิษ ตาบวม ปากบวม หายใจไม่ออก ปวดท้อง เกิดขึ้นทันทีในช่วงนาทีถึงชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดจากการแพ้ส่วนประกอบต่าง ๆ ในวัคซีนได้แก่
- ไข่ไก่ พบได้ในวัคซีนที่มีการเพาะเลี้ยงในตัวอ่อนของไก่ (chick embryo) เช่น วัคซีนไข้เหลือง วัคซีนพิษสุนัขบ้าชนิด Purified chick embryo cell (PCEC) วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และ วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่าปริมาณโปรตีนของไข่ไก่ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูมมีปริมาณที่น้อยมาก หากผู้รับวัคซีนมีประวัติแพ้ไข่แบบไม่รุนแรงสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ตามปกติ กรณีมีประวัติแพ้ไข่แบบรุนแรงสามารถฉีดได้ แต่ต้องอยู่ในสถานพยาบาลที่สามารถสังเกตอาการและรักษาอาการแพ้รุนแรงได้โดยการให้ยาฉีดอะดรีนาลีน
- นมวัว พบในขั้นตอนการผลิตของวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน บางชนิด
- ยีสต์ เซลล์ยีสต์ใช้ในการผลิตวัคซีนตับอักเสบบี และวัคซีนไวรัสมะเร็งปากมดลูกบางชนิด
- เจลาติน ใช้เป็นตัวทำให้วัคซีนคงตัว (stabilizer) มีรายงานการแพ้รุนแรงจากเจลาตินในวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูมและอีสุกอีใส นอกจากนั้นยังสามารถพบได้ในวัคซีนไข้สมองอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ไทฟอยด์ พิษสุนัขบ้าบางชนิด
- Latex พบจากบรรจุภัณฑ์ของวัคซีนหลายชนิด
- อาการแพ้ไม่เฉียบพลัน เช่น นูนแดง ก้อนใต้ผิวหนังบริเวณจุดที่มีการฉีดวัคซีน ผื่นพดแดงตามตัว มีแสดงอาการตั้งแต่ 2-8 ชั่วโมง จนถึง 2 วันหลังฉีดวัคซีน โดยการแพ้ในลักษณะนี้อาจเกิดจากสารประกอบวัคซีนบางชนิด เช่น
- ยาปฏิชีวนะ เช่น neomycin, streptomycin, polymyxin B sulfate
- Aluminum hydroxide ทำหน้าที่เป็นสารในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (adjuvant) ปฏิกิริยาจาก aluminum ก่อให้เกิด อาการคัน นูนแดงใต้ผิวหนัง ไตแข็งหลังฉีดได้ (subcutaneous nodules or granulomas)
- Thimerosal และ Formaldehyde ใช้เป็นสารกันเสีย (preservative) สามารถทำให้เกิดผื่นแดงคัน
- Polyethylene glycol (PEG) หรือ polysorbate ใช้เป็นสารช่วยส่งเสริมการละลายน้ำในวัคซีน (water-solubility)
ผลข้างเคียงอื่น ๆ จำเพาะแต่ละวัคซีน เช่น
- อาการไข้สูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส ร้องไห้นานเกิน 3 ชั่วโมง หรือกรีดร้องเสียงแหลม มีอาการช็อกหรือชัก ในเด็ก หลังได้วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน พบได้ 0-10 ครั้ง ต่อ 10,000 ครั้ง
- อาการไข้ ผื่นคล้ายการออกหัดแต่น้อยกว่า พบได้ประมาณ 5% มักเกิดภายใน 5-12 วัน หลังได้รับวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม
- อาการไข้ต่ำๆ ผื่นแดง หรือตุ่มน้ำใสเล็กน้อย พบได้ประมาณ 3% ภายใน 3 สัปดาห์ หลังได้รับวัคซีนอีสุกอีใส
- อาการบวมของแขนข้างที่รับวัคซีนหรือข้อบวม มักเกิดภายใน 2 – 8 ชั่วโมง ไม่เกิน 48 ชั่วโมง (Arthus reaction) พบได้ประมาณ 5% หลังได้รับวัคซีนบาดทะยัก
- การอักเสบของปลอกหุ้มเส้นประสาทหลายเส้นอย่างเฉียบพลัน เกิดจากมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผิดปกติ (Guillain – Barré syndrome) พบได้น้อย มีอาการอาการกล้ามเนื้อ อ่อนแรง ชาพบได้ถึง 8 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนคอตีบบาดทะยัก
การทดสอบสามารถทำได้โดยการซักประวัติและตรวจลักษณะการแพ้ ประกอบกับช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับการให้ยา หากสงสัยว่ามีสภาวะการแพ้วัคซีน แพทย์อาจพิจารณาการทดสอบสะกิดผิวหนัง (Skin prick test) ทั้งจากส่วนประกอบวัคซีนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ได้แก่ เจลาติน นมวัว ไข่ไก่ ยีสต์ เลเทกซ์ หรือจากตัวของวัคซีนเอง และหรือทำการทดสอบต่อไปด้วยการฉีดน้ำยาวัคซีนเข้าผิวหนังเป็นจุดเล็กๆ (Intradermal test) เพื่อประกอบการวินิจฉัย
หากผู้ป่วยมีการทดสอบผิวหนังเป็นบวก แพทย์อาจให้วัคซีนอื่นเป็นทางเลือกหรือหากจำเป็นต้องให้วัคซีนนั้น ๆ จำเป็นต้องใช้วิธีค่อยๆเพิ่มปริมาณทีละน้อย (desensitization) ขึ้นกับประวัติความรุนแรงของอาการแพ้
แนะนำให้สังเกตอาการหลังฉีดอย่างน้อย 15-30 นาที โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้รุนแรงหลังได้รับวัคซีนมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
สถานการณ์ปัจจุบันของวัคซีน COVID-19
สำหรับวัคซีนของไวรัส SARS-CoV-2 ในปัจจุบันมี 3 ประเภท ได้แก่
- วัคซีนไวรัสตาย หรือ Inactivated Virus
- วัคซีน mRNA ใน Lipid Nanoparticles (LNP) เป็นวัคซีนที่นำส่วน mRNA ของยีนส่วนเปลือกของ SARS-CoV-2 ห่อหุ้มด้วย Lipid Nanoparticle เมื่อเข้าเซลล์จะถูกถอดส่วน Lipid ออก เข้าสู่ส่วนของเซลล์ที่เรียกว่า Ribosome เปรียบเสมือนเป็นโรงงานสร้างโปรตีน mRNA ทำให้เกิดการสร้างโปรตีน ไปกระตุ้นร่างกายสร้างแอนติบอดีภูมิต้านทานต่อโรค COVID-19
- วัคซีนที่อาศัยไวรัสอื่นเช่น adenovirus เป็นตัวฝากหรือเป็นเวกเตอร์ เพื่อนำเอาสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 เข้าเซลล์
Centers of Disease Control and Prevention หรือ CDC ได้รายงานผลข้างเคียงของวัคซีน ระหว่าง วันที่ 14–23 ธันวาคม 2020, พบภาวะแพ้รุนแรง 21 ราย จาก 1,893,360 โดสแรกจากบริษัทหนึ่ง (คิดเป็น 11.1 ครั้งต่อการฉีดวัคซีนล้านโดส); โดย 71% เกิดภายใน 15 นาทีแรกหลังฉีดยา, 14% เกิดช่วง 15 ถึง 30 นาที และอีก 14% เกิดขึ้นหลังฉีดแล้ว 30 นาที อย่างไรก็ตามภาวะแพ้วัคซีนสามารถพบได้ถึง 4 ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน
สาเหตุหรือส่วนประกอบต้นเหตุยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม วัคซีน COVID-19 นั้นไม่มีส่วนประกอบของไข่ไก่ สารกันเสีย หรือลาเทกซ์ มีข้อสันนิษฐานว่าการแพ้วัคซีนอาจเกิดจาก สาร polyethylene glycol (PEG) หรือ polysorbate ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารช่วยส่งเสริมการละลายน้ำในวัคซีน โดยสารตัวนี้เป็นส่วนประกอบของวัคซีนและยามากกว่า 1,000 ชนิด เช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนนิวโมค็อคคัลคองจูเกทและ ยาฉีดกลุ่มสเตียรอยด์บางชนิด เป็นต้น ดังนั้นหากท่านมีประวัติเคยแพ้ยาหรือวัคซีนอื่นๆ โดยเฉพาะชนิดรุนแรงเฉียบพลันในอดีต ควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อนและสังเกตอาการใกล้ชิดหลังได้รับวัคซีน