โรคหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ ภาวะหัวใจล้มเหลวอาจเป็นอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน

ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ ภาวะหัวใจล้มเหลวอาจเป็นอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้
โรคหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว หมายถึงอะไร
ภาวะหัวใจล้มเหลว หมายถึง ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างเพียงพอ มักเกิดขึ้นเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอหรือแข็งจนเกินไป ทำให้เลือดไม่สามารถเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ มักไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่โดยทั่วไปจะสามารถควบคุมอาการได้
ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในผู้สูงอายุ
ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งหัวใจยังเต้นอยู่แต่ไม่สามารถส่งออกซิเจนได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลฉุกเฉินจากทีมแพทย์

อาการหัวใจวาย/ล้มเหลวเฉียบพลัน
อาการที่สงสัยว่าอาจเกิดหัวใจวาย ได้แก่
– หายใจลำบาก ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการที่พบบ่อยที่สุด
– หายใจหอบเหนื่อย
– ความรู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก
– หายใจลำบากขณะนอนราบ
– แน่นหน้าอก
อาการอื่น ๆ เช่น
– หัวใจเต้นผิดจังหวะ
– เจ็บหน้าอก
– ไอ
– แขนหรือขาบวม
– คลื่นไส้
– สับสน
– หมดสติ
ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะที่ร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน การรักษาแต่เนิ่นๆ จะเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัว และในระยะยาวจะลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะหัวใจล้มเหลวอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ซึ่งอาจรวมถึงภาวะหัวใจหยุดเต้น

สาเหตุของการเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน
หัวใจวายเฉียบพลันเกิดจาก
ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ หรือมีภาวะบางอย่างที่อาจทำให้หัวใจทำงานหนักผิดปกติ การที่หัวใจทำงานหนักมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของหัวใจซึ่งอาจรวมถึง:
– หัวใจโต
– การไหลเวียนของเลือดลดลง
– หลอดเลือดหัวใจตีบ
– หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ
– กล้ามเนื้อหัวใจแข็ง
ในช่วงแรกหัวใจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และใช้ระยะเวลานานก่อนที่จะเกิดอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เมื่อเวลาผ่านไป การเปลี่ยนแปลงจะเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจทำงานหนักกว่าที่ควร เมื่อหัวใจไม่สามารถทำงานหนักได้อีกต่อไป จะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเกิดขึ้นได้แม้ในผู้ที่มีสุขภาพดี มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถทำให้หัวใจตึงเครียดอย่างฉับพลัน หรือทำให้หัวใจอ่อนแอลงหรือได้รับความเสียหายเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้
สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ได้แก่
– โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดตีบตันได้
– กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียดพลัน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและมักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
– ความดันเลือดสูง
– ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ
– หัวใจเต้นผิดปกติอย่างรุนแรง
– โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
– กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
– กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ
– โรคปอดขั้นรุนแรง
นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพที่ทำให้หัวใจเกิดความเครียด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่
– โรคไตระยะท้าย
– โรคพิษสุราเรื้อรัง
– โรคลิ่มเลือดอุดตันในปอด
– โรคเบาหวาน
– โรคความดันเลือดสูง
– โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (hyperthyroidism)
– มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
– โรคหลอดเลือดสมอง
– การติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ รวมถึง อายุที่เพิ่มขึ้น มีภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง การใช้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น
การมีปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ แต่การมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง หมายถึงโอกาสการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวที่สูงขึ้น
การแบ่งระยะของภาวะหัวใจล้มเหลว
การแบ่งระยะของภาวะหัวใจล้มเหลวตาม New York Heart Association
หากได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลว แพทย์จะจำแนกระยะเพื่อบอกว่าหัวใจล้มเหลวอยู่ในขั้นใด สิ่งนี้สามารถช่วยแนะนำการรักษาได้ โดยแบ่งตามอาการเป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะ 1 ไม่พบอาการใด ๆ
ระยะ 2 สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างง่ายดาย แต่รู้สึกเหนื่อยหรือหายใจไม่ออกเมื่อออกแรง
ระยะ 3 มีปัญหาในการทำกิจกรรมประจำวัน
ระยะ 4 มีอาการหัวใจล้มเหลวชัดเจน เช่น เหนื่อย หายใจลำบาก แม้เป็นเวลาพักผ่อน

การวินิจฉัย และการรักษา
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการประเมินอย่างรวดเร็วซึ่งรวมถึง
1. ซักประวัติสุขภาพ ประวัติส่วนตัว ประวัติครอบครัวที่มีบุคคลเป็นโรคหัวใจ ประวัติการสูบบุหรี่ ยาประจำตัว เป็นต้น
2. ตรวจร่างกาย รวมถึงการฟังหัวใจและตรวจอาการบวมน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น
– Electrocardiogram (EKG) เพื่อบันทึกและประเมินลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ
– X-ray ทรวงอกเพื่อตรวจหาของเหลวที่สะสมในหัวใจหรือปอด
– การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อดูการเต้นของหัวใจและการไหลเวียนของเลือด
– การสวนหัวใจเพื่อตรวจดูหลอดเลือดหัวใจ
การรักษาผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
ไม่มีวิธีรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวให้หายขาด แต่การรักษาสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันอาจส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ การรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่การจัดการอาการและป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวในอนาคต ผู้ป่วยอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะคงที่
สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจะเป็นตัวกำหนดแผนการรักษา ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันอาจเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังมักจะเหมือนกัน
ทางเลือกในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ได้แก่ การใช้ยา การใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการผ่าตัด
วิธีป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
การใช้ชีวิตที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดีของหัวใจสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้
เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงบางอย่างได้ เช่น อายุที่มากขึ้น กุญแจสำคัญในการป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวคือการลดปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้
หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว ควรพิจารณาสิ่งเหล่านี้เพื่อรักษาสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง:
– รักษาน้ำหนักให้เป็นปกติ หากน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงได้
– ออกกำลังกายเป็นประจำ
– กินอาหารที่สมดุลซึ่งมีเนื้อแดงและน้ำตาลต่ำ
– เลิกสูบบุหรี่
– หาวิธีจัดการกับความเครียด
– นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
– จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาหารและกิจกรรมที่ทำหลังเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว สิ่งสำคัญคือต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำและรายงานอาการผิดปกติให้แพทย์ทราบ ยิ่งสามารถได้รับการวินิจฉัยอาการและเริ่มการรักษาได้เร็วเท่าไร แนวโน้มคุณภาพชีวิตก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น