มะเร็งปากมดลูก

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในเซลล์ของปากมดลูก ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV) การตรวจคัดกรองและรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
มะเร็งปากมดลูก
ผู้ที่มีมดลูกทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ มะเร็งปากมดลูกมักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (human papillomavirus; HPV) บางชนิดเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
เอชพีวีเป็นไวรัสทั่วไปที่ติดต่อระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีเพศสัมพันธ์จะมีเชื้อ HPV ในช่วงหนึ่งของชีวิต แต่จะมีผู้หญิงไม่กี่คนที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี สามารถช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ หากพบมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก จะมีโอกาสรักษาหายได้สูง และสัมพันธ์กับการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

อาการและสัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก
อาการเริ่มแรกของมะเร็งปากมดลูก
ช่วงแรกที่เริ่มมีเซลล์ผิดปกติ ซึ่งเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งของปากมดลูกมักไม่ก่อให้เกิดอาการแสดงใดๆ อาการหรือสัญญาณมักปรากฏขึ้นเมื่อเริ่มเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น ในขณะที่มะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย อาการอาจรุนแรงมากขึ้น ขึ้นอยู่กับเนื้อเยื่อและอวัยวะที่มะเร็งแพร่กระจายไป
อาการหรือสัญญาณต่อไปนี้ อาจแสดงถึงอาการของมะเร็งปากมดลูก:
– มีเลือดเป็นหยดหรือมีเลือดออกเล็กน้อยก่อนหรือหลังมีประจำเดือน
– มีประจำเดือนนานและมากกว่าปกติ
– มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ การสวนล้าง หรือหลังการตรวจภายใน
– มีตกขาวเพิ่มขึ้น
– รู้สึกเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
– มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน
– ปวดเชิงกรานและ/หรือหลัง ตลอดเวลาโดยไม่ทราบสาเหตุ
“อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูกเสมอไป เนื่องจากอาการเหล่านี้พบได้บ่อยและอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้”
หากมีอาการเหล่านี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบแม้ว่าจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เนื่องจากยิ่งตรวจพบและรักษามะเร็งปากมดลูกได้เร็วเท่าไร โอกาสที่จะป้องกันและรักษาหายยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

มะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร
อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นไวรัสทั่วไปที่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ เชื้อเอชพีวีมีหลายชนิด บางชนิดสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ปากมดลูก ซึ่งอาจนำไปสู่มะเร็งปากมดลูกได้เมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่ชนิดอื่น ๆ อาจทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศหรือผิวหนัง
เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต แต่การได้รับเชื้อมักจะไม่แสดงอาการ ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าคนผู้นั้นติดเชื้ออยู่หรือไม่ ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวีจะสามารถหายได้เอง แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นก็มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เมื่อเวลาผ่านไป
“ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น
– การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือภาวะอื่นๆ ที่ทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ยาก
– การสูบบุหรี่”
สามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่สามารถทำได้เพื่อช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกคือการได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
วัคซีนมะเร็งปากมดลูก
วัคซีนจะป้องกันเชื้อเอชพีวี ชนิดที่มักก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ช่องคลอด และปากช่องคลอด
– แนะนำให้ฉีดวัคซีนในวัยรุ่นอายุ 11-12 ปี แต่สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี
– แนะนำให้ฉีดวัคซีนสำหรับทุกคนจนถึงอายุ 26 ปี หากยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน
– ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนสำหรับทุกคนที่มีอายุมากกว่า 26 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่บางคนที่อายุระหว่าง 27 ถึง 45 ปีที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน อาจปรึกษาแพทย์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ และประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนในช่วงอายุนี้จะให้ประโยชน์น้อยกว่า เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาจได้รับเชื้อเอชพีวีไปแล้ว
หากเริ่มฉีดวัคซีนก่อนอายุ 15 ปี แนะนำให้ฉีดสองครั้ง โดยห่างกัน 6 ถึง 12 เดือน สำหรับผู้ที่เริ่มฉีดวันซีนนี้หลังจากอายุ 15 ปี แนะนำให้ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม
การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีใหม่ แต่ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อหรือโรคมะเร็งปากมดลูกที่มีอยู่ได้ นี่คือเหตุผลที่ควรฉีดวัคซีนก่อนที่จะสัมผัสเชื้อเอชพีวี และควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
การตรวจคัดกรองสองอย่างนี้ สามารถช่วยค้นหาความผิดปกติที่อาจทำให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ได้แก่
1. การตรวจแปปสเมียร์ โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายปากเป็ดเข้าไปในช่องคลอดเบาๆ และใช้เครื่องมือเข้าไปเก็บเซลล์ตัวอย่างที่ปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจหาความผิดปกติ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในปากมดลูกที่อาจทำให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
2. การทดสอบหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกวินิจฉัยและรักษาได้อย่างไร
สูตินรีแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและทำการรักษา
การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากขนาดของก้อนมะเร็งหรือการแพร่กระจายของมะเร็ง และใช้ข้อมูลนี้เพื่อวางแผนการรักษา
ประเภทของการรักษา
มะเร็งปากมดลูกรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็งปากมดลูก การรักษารวมถึงการผ่าตัด เคมีบำบัด และการฉายแสง
การผ่าตัด: แพทย์จะผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อมะเร็งออก
การรับยาเคมีบำบัด: เป็นการใช้ยาเพื่อลดขนาดหรือฆ่าเซลล์มะเร็ง ยาอาจเป็นยาเม็ดหรือยาที่ให้ทางเส้นเลือด หรือบางครั้งได้รับทั้งสองอย่าง
การฉายรังสี: การใช้รังสีพลังงานสูง (คล้ายกับรังสีเอกซ์เรย์) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
สิ่งเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกได้ ได้แก่
– หากอายุไม่เกิน 26 ปี ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี
– ละเว้นการสูบบุหรี่
– ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์*
*การติดเชื้อเอชพีวีสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณอวัยวะเพศชายและหญิงที่สวมถุงยางอนามัยและอวัยวะเพศบริเวณอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลของการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี แต่การใช้ถุงยางอนามัยมีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่ลดลง
Ref.
1. cdc.gov/cancer/cervical/
2. mayoclinic.org/
3. cancer.net/cancer-types/
ข้อมูลโดย
ภญ. ปฐมา เทพชัยศรี
เภสัชกรคลินิก แผนกเภสัชกรรม
โรงพยาบาลบีเอ็นเอช