
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน

อาการปวดหลัง โดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่าง มักพบได้บ่อย อาจเกิดจากการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นที่หลัง อาการปวดมักจะดีขึ้นเมื่อได้รับการพักผ่อน กายภาพบำบัด และกินยา โดยปกติอาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ ควรพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
อาการปวดหลัง
ชนิดของอาการปวดหลัง
ประเภทของอาการปวดหลังที่พบบ่อย มี 3 แบบ ได้แก่ อาการปวดเฉพาะที่ (local pain) ปวดแบบแผ่รอบจุด (radiating pain) และปวดแบบต่างที่ (referred pain)
– อาการปวดเฉพาะที่ (local pain) ที่เกิดเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่าง เป็นอาการปวดหลังที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุมักเกิดจากการบาดเจ็บที่หมอนรองกระดูกเล็กน้อย ข้ออักเสบ และกล้ามเนื้อเคล็ดขัดยอก อาการปวดอาจคงที่ ปวดร้าว หรือบางครั้งอาจปวดเป็นพักๆ และรุนแรง อาจรู้สึกเจ็บปวดอย่างกะทันหันหากเกิดจากการบาดเจ็บ อาการปวดอาจมากขึ้นหรือทุเลาลงได้จากการเปลี่ยนท่า อาจรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส หรือกล้ามเนื้อเกิดการหดตัว
– ปวดแบบแผ่รอบจุด (radiating pain) เป็นอาการปวดที่แผ่จากหลังส่วนล่างลงไปที่ขา ความเจ็บปวดอาจเป็นอาการปวดแบบตื้อๆ หรือเจ็บรุนแรง โดยทั่วไปแล้วจะแผ่ไปเฉพาะด้านข้างหรือด้านหลังของขา และอาจไปถึงเท้าหรือแค่เข่าก็ได้ ความเจ็บปวดที่แผ่แบบนี้ โดยทั่วไปบ่งบอกถึงการกดทับของเส้นประสาทที่เกิดจากความผิดปกติ เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ข้อเสื่อม หรือกระดูกสันหลังตีบ การไอ จาม บีบรัด หรือก้มโค้งในขณะที่ขาเหยียดตรงอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้ หากมีการกดทับที่เส้นประสาท ความเจ็บปวดมักมาพร้อมกับกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ขา ความรู้สึกจะเหมือนถูกเข็มทิ่มแทง หรือแม้แต่สูญเสียความรู้สึก อาการที่พบน้อยแต่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ ภาวะกลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่อยู่
– อาการปวดต่างที่ (referred pain) เป็นความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นแต่ไม่ใช่บริเวณที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของความเจ็บปวด ตัวอย่างเช่น คนที่มีอาการหัวใจวายบางคนรู้สึกเจ็บที่แขนซ้าย อาการปวดหลังส่วนล่างที่เกิดจากอวัยวะภายในมักจะปวดลึกๆ และระบุตำแหน่งที่แน่นอนได้ยาก การเคลื่อนไหวจะไม่ทำให้อาการปวดแย่ลง ซึ่งแตกต่างจากความเจ็บปวดจากความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
อาการปวดหลังส่วนใหญ่จะค่อยๆ ดีขึ้นด้วยการรักษาที่บ้านและการดูแลตนเอง ซึ่งจะหายเป็นปกติภายในไม่กี่สัปดาห์ ควรพบแพทย์หากมีอาการปวดหลังที่:
– ปวดนานกว่า2-3 สัปดาห์
– มีอาการรุนแรงและไม่ดีขึ้นเมื่อพักผ่อน
– ปวดร้าวลงขาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปวดลงไปใต้เข่า
– มีอาการอ่อนแรง ชา หรือรู้สึกเสียวซ่าที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
– อาการคู่กับน้ำหนักที่ไม่สามารถอธิบายได้
ในบางกรณี อาการปวดหลังอาจส่งสัญญาณถึงปัญหาที่ร้ายแรง ควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดหลังที่:
– ทำให้เกิดปัญหาในการปัสสาวะหรืออุจจาระ
– มีไข้ร่วมด้วย
– อาการปวดหลังที่เกิดจากการหกล้ม เกิดหลังกระแทก หรือการบาดเจ็บอื่นๆ
สาเหตุของอาการปวดหลัง
สาเหตุุทั่วไป
“อาการปวดหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งสาเหตุไม่ชัดเจน แต่มักจะดีขึ้นเองได้ สาเหตุทั่วไปของอาการปวดหลัง คือ การบาดเจ็บทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว”
สาเหตุุอื่นๆ
“บางครั้ง สภาวะอื่นๆ เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
สาเหตุที่พบได้น้อยครั้ง แต่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาร้ายแรง เช่น กระดูกหัก มะเร็ง หรือการติดเชื้อ”

ควรทำอย่างไรหากมีอาการปวดหลัง
วิธีแก้ปวดหลังด้วยตัวเอง
โดยปกติอาการปวดหลังจะหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ควรพยายามทำตัวให้กระฉับกระเฉงเท่าที่จะทำได้และทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติ หากความเจ็บปวดทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ควรกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมได้ คำแนะนำแต่ก่อนที่ว่าให้พักจนกว่าความเจ็บปวดจะทุเลาลงได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกต้อง
ควรทำในสิ่งต่อไปนี้:
– พยายามทำกิจกรรมในประจำวันตามปกติ
– กินยาต้านการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน (พาราเซตามอลไม่แนะนำให้ใช้กับอาการปวดหลัง แต่อาจใช้ร่วมกับยาแก้ปวดตัวอื่นได้)
– ประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดและบวม
– ประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการตึงของข้อต่อหรือกล้ามเนื้อกระตุก
– ออกกำลังกายเบาๆ และยืดเหยียดในท่าที่ช่วยแก้อาการปวดหลัง
ไม่ควรนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน
การรักษาอาการปวดหลัง
มีการรักษาอะไรบ้าง
นอกเหนือจากการพยายามทำกิจกรรมตามปกติและการใช้ยาแก้ปวดแล้ว ยังมีการรักษาอื่นๆ อีกหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด เช่น การทำกายภาพบำบัด การฉีดยาแก้ปวด การผ่าตัด เป็นต้น

อาการปวดหลังสามารถป้องกันได้หรือไม่
สามารถหลีกเลี่ยงอาการปวดหลังได้อย่างไร
อาการปวดหลังที่เป็นผลมาจากโรคหรือปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างกระดูกสันหลังไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บที่หลัง ควรปฏิบัติตัวดังนี้:
– รักษาน้ำหนักตัวให้เป็นปกติ: น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะสร้างแรงกดดันต่อกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก ทำให้มีโอกาสเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้เพิ่มขึ้น
– เสริมสร้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง: พิลาทิสและโปรแกรมการออกกำลังกายอื่นๆ เสริมสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางที่รองรับกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลังแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
– ยกของอย่างถูกวิธี: เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ ให้ยกด้วยกำลังขา (ไม่ใช่หลัง) และถือของหนักไว้ใกล้ตัว พยายามอย่าบิดลำตัวขณะยก
คนที่มีอาการปวดหลังแนวโน้มจะเป็นอย่างไร
แนวโน้มขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด
คนส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดหลังและเคล็ดขัดยอกจะหายดีและไม่มีปัญหาสุขภาพในระยะยาว แต่หลายคนอาจมีอาการกลับมาใหม่ภายในหนึ่งปี
บางคนอาจมีอาการปวดหลังเรื้อรังซึ่งอาการไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์ ผู้สูงอายุที่มีภาวะเสื่อม เช่น ข้ออักเสบและโรคกระดูกพรุน อาจมีอาการแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการผ่าตัดหรือการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยลดอาการบาดเจ็บและช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตโดยปราศจากอาการปวดได้
