
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
ตกขาวเป็นของเหลวที่มาจากช่องคลอดตามธรรมชาติ โดยปกติแล้วการตกขาวไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่ควรกังวลหากตกขาวเปลี่ยนเป็นสีเทา สีเขียว หรือสีชมพู มีเลือดออกนอกรอบประจำเดือน หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ หรืออาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปากมดลูกได้
ตกขาว
ตกขาวเป็นคำศัพท์ทางการแพทย์สำหรับของเหลวที่ออกมาจากช่องคลอด
ตกขาวเป็นวิธีที่ร่างกายกำจัดเซลล์ผิวหนังในช่องคลอด แบคทีเรีย สารคัดหลั่งจากปากมดลูก และเนื้อเยื่อช่องคลอดที่ตายแล้ว เพื่อช่วยปกป้องช่องคลอดและระบบทางเดินปัสสาวะจากการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังช่วยให้เนื้อเยื่อในช่องคลอดหล่อลื่นและสะอาด
ฮอร์โมนในร่างกายส่งผลต่อปริมาณและความสม่ำเสมอของตกขาว ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราอาจมีปริมาณตกขาวที่แตกต่างกันในบางช่วงเวลา เช่น ก่อนมีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ หรือขณะใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด

ตกขาวมีสีอะไรได้บ้าง
ตกขาวมีได้หลายสี ขึ้นอยู่กับภาวะของร่างกาย ณ เวลานั้นๆ
– สีออกสีแดงเลือดหรือสีน้ำตาล
การมีเลือดสีแดงหรือสีน้ำตาลออกมาจากช่องคลอดเป็นเรื่องปกติในช่วงมีประจำเดือน สีอาจมีตั้งแต่สีแดงเชอรี่ในช่วงเริ่มต้นของรอบเดือนไปจนถึงสีน้ำตาลสนิม แต่ถ้าเห็นเป็นสีแดงตลอดทั้งเดือน อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติ เช่น การติดเชื้อ มะเร็งปากมดลูก
สาเหตุอาจเกิดจากรอบประจำเดือนผิดปกติ เช่น บางคนมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอหรือมีเลือดออกระหว่างรอบเดือนจากการคุมกำเนิดหรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
– สีครีมและสีขาวน้ำนม
ตกขาวอาจมีสีขาวได้หลากหลายเฉดตั้งแต่สีเปลือกไข่ไปจนถึงสีครีม ซึ่งไม่ต้องกังวลยกเว้นมีสิ่งที่ไหลออกมาด้วย เช่น เนื้อเยื่อหรือมีกลิ่นผิดปกติ
สาเหตุอาจเกิดจากน้ำหล่อลื่นในช่องคลอด ตกขาวสีครีมหรือสีน้ำนมสามารถเกิดจากหลายสาเหตุเช่นเดียวกับตกขาวใส เป็นเพียงการหล่อลื่นตามธรรมชาติ ทำให้เนื้อเยื่อในช่องคลอดแข็งแรงและลดการเสียดสีระหว่างมีเพศสัมพันธ์
– สีเหลืองอ่อนๆ จนถึงสีเขียวนีออน
ตกขาวสีเหลืองอ่อนๆ เป็นเรื่องปกติมากกว่าที่คิด แต่หากสีเหลืองหรือสีเขียวเข้มขึ้น มักจะเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ แต่บางครั้งอาหารที่กินเข้าไปอาจส่งผลต่อสีของตกขาว บางคนอาจเกิดจากการกินวิตามินหรืออาหารบางชนิด
– สีแดงอ่อนๆ ถึงสีชมพูเข้มตกขาวสีแดงอ่อนๆ ไปจนถึงสีชมพูเข้ม
มักเป็นสัญญาณของการเริ่มมีรอบเดือน แต่ในบางครั้งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้ บางคนอาจมีเลือดออกช่องคลอดเล็กน้อยเป็นระยะๆ หลังจากการสอดใส่ช่องคลอดด้วยนิ้ว เซ็กส์ทอย หรือองคชาติ ซึ่งอาจส่งผลให้ตกขาวเป็นสีชมพู แต่หากมีลักษณะตกขาวแบบนี้ตลอดรอบเดือนควรปรึกษาแพทย์
– ตกขาวแบบใส
ตกขาวแบบใสหรือสีขาว ตกขาวใสสม่ำเสมอเหมือนไข่ขาวมักปกติ อาจเป็นการขับสารคัดหลั่งออกมาเพื่อปรับสมดุลให้กับช่องคลอด เนื่องจากช่องคลอดเป็นอวัยวะที่ทำความสะอาดตัวเองได้
สาเหตุการตกขาวใสมักเกิดจาก
การตกไข่: เกิดขึ้นประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน เป็นภาวะที่กำลังตกไข่และปากมดลูกผลิตมูกใสออกมา
ตกขาวระหว่างตั้งครรภ์: การตั้งครรภ์อาจทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงและเพิ่มปริมาณการตกขาว
ความเร้าอารมณ์ทางเพศ: ในระหว่างการกระตุ้นทางเพศ หลอดเลือดในช่องคลอดจะขยายตัวและมีของเหลวไหลออกมา ทำให้มีน้ำใสๆ ไหลออกมาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอาการปกติ
– สีเทา
เมื่อตกขาวเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ซึ่งแพทย์จะรักษาโดยการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะ

อาการตกขาวก่อนมีประจำเดือน
การตกขาวอาจช่วยบ่งบอกระยะต่างๆ ของรอบเดือน
ตกขาวในระยะก่อนมีประจำเดือนมักจะมีสีขุ่นหรือขาว เนื่องจากมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือนและการตั้งครรภ์
เมื่อร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้นในระหว่างรอบเดือน ตกขาวมักจะมีลักษณะใสและเป็นน้ำ
“ตกขาวมีการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาของรอบเดือน ได้แก่ :
1. ระยะตกไข่ ตกขาวมักจะมีลักษณะใส ยืดได้ และเป็นน้ำ ความบางช่วยให้สเปิร์มเดินทางไปยังไข่ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะก่อนการตกไข่ มักจะมีตกขาวซึ่งอาจมากถึง 30 เท่าของปริมาณปกติ
2. หลังจากการตกไข่ ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นทำให้ตกขาวมีสีขาว และอาจเหนียวข้นแต่จะมีปริมาณน้อยกว่าช่วงตกไข่
3. ก่อนมีประจำเดือน ตกขาวอาจมีสีขาวและสีเหลือง
4. หลังจากมีประจำเดือน อาจมีตกขาวสีน้ำตาลซึ่งประกอบด้วยเลือดเก่าออกจากช่องคลอด ซึ่ง 3 ถึง 4 วันหลังจากนี้อาจผ่านไปโดยไม่มีตกขาวออกมา”

ตกขาวแบบไหนควรต้องไปพบแพทย์
อาการตกขาวบางอย่างอาจเป็นสัญญาณของภาวะโรคร้ายแรง
โดยปกติแล้วเราจะรู้สึกถึงความผิดปกติ ซึ่งร่างกายจะส่งสัญญาณบางอย่าง ร่วมกับอาการตกขาวที่ผิดปกติ เช่น อาการคัน ปวด และแสบร้อนระหว่างปัสสาวะ เป็นต้น
ควรปรึกษาแพทย์ หากกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีอาการดังต่อไปนี้:
– อาการคันร่วมกับอาการตกขาว
– รู้สึกเจ็บ/ปวดท้องน้อยร่วมด้วย
– รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ
– ตกขาวมีกลิ่นเหม็นรุนแรง
– ตกขาวมีลักษณะเป็นฟอง
– ตกขาวเป็นก้อนหนาคล้ายชีส
– ตกขาวเป็นสีเทา
– มีเลือดออกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน
ประจําเดือนไม่มา แต่มีตกขาว
ประจำเดือนที่ขาดหายไปหรือมาช้าอาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน
อาการตกขาว ปวดท้องน้อย และประจำเดือนไม่มาอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ หรืออาจเป็นอาการของประจำเดือนมาช้าหรือภาวะอื่นๆ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก การติดเชื้อรา หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์
โรคที่มาพร้อมตกขาวผิดปกติ
สาเหตุใดบ้างที่ทำให้ตกขาวผิดปกติ
การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอดอาจส่งผลต่อกลิ่น สี หรือลักษณะตกขาวที่ขับออกมา สิ่งที่มีผลทำลายสมดุลนั้น ได้แก่:
– การใช้ยาปฏิชีวนะหรือสเตียรอยด์
– ภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักพบได้บ่อยในผู้ที่ตั้งครรภ์หรือมีคู่นอนหลายคน
– การใช้ยาคุมกำเนิด
– มะเร็งปากมดลูก
– ติดเชื้อ Chlamydia หรือโรคหนองในเทียม ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
– มีภาวะโรคเบาหวาน
– การสวนล้างช่องคลอดด้วยสบู่หรือโลชั่นที่มีกลิ่นหอม ที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
– การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหลังการผ่าตัด
– โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ
– ติดเชื้อ Trichomoniasis ซึ่งเป็นเชื้อปรสิต มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน
– ภาวะช่องคลอดฝ่อ ภาวะผนังช่องคลอดบางและแห้งในช่วงวัยหมดประจำเดือน
– ช่องคลอดอักเสบ ระคายเคืองในหรือรอบๆ ช่องคลอด
– การติดเชื้อราในช่องคลอด

แพทย์วินิจฉัยตกขาวผิดปกติอย่างไร?
แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติสุขภาพและสอบถามอาการ ซึ่งอาจรวมถึง
ลักษณะสี กลิ่น ของตกขาว อาการอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น อาการคัน อาการปวดท้องน้อย ปวดแสบช่องคลอด ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
แพทย์อาจเก็บตัวอย่างตกขาวหรือทำการเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูกเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
อาการตกขาวที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปากมดลูก
ตกขาวผิดปกติ
เป็นเรื่องปกติหากตกขาวมีลักษณะใส สีเหมือนน้ำนม หรือมีสีเหลืองเล็กน้อย แต่ควรสังเกตสี กลิ่น หรือลักษณะตกขาวที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก เช่น ตกขาวที่มีลักษณะเป็นสีแดงจากเลือดออกเล็กน้อย มีตกขาวเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นและมีสีชมพู สีน้ำตาล หรือสีเลือด บางครั้ง อาจมีเนื้อเยื่อหรือเนื้อตายออกมากด้วยซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อของเนื้องอก ทำให้เกิดตกขาวมีกลิ่นเหม็น หากมีของเหลวไหลออกมาอย่างต่อเนื่องซึ่งมีสีซีด เป็นสีน้ำตาลปนน้ำ หรือมีเลือดปน ควรพบสูตินรีแพทย์ทันที
ข้อมูลโดย
ภญ. ปฐมา เทพชัยศรี
เภสัชกรคลินิก แผนกเภสัชกรรม
โรงพยาบาลบีเอ็นเอช