ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร
ออฟฟิศซินโดรม เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่เกิดเนื่องจากการทำงาน เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติจากการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ เอ็นหรือเส้นประสาทที่เกิดขึ้น มักพบเนื่องจากการทำงานในท่าทางไม่เหมาะสม หรืออยู่ท่าเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน
ออฟฟิศซินโดรมมีอาการอย่างไร
อาการที่มักพบในผู้ที่เป็นออฟฟิศซินโดรม ได้แก่
- ปวดกล้ามเนื้อ เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอาการปวดหรือชาตามแขน ขา บ่า ไหล่ หรือนิ้วมือนิ้วเท้า จากการเกิดอาการตึงของกล้ามเนื้อ หลังจากการทำงาน อาจมีอาการปวดหลัง จากการยืนหรือนั่งในอิริยาบทที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เนื่องจากเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ไม่ดี
- ปวดข้อมือ หรือมีนิ้วล็อค จากการเกิดพังผืดของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือและข้อนิ้วมือ
- อ่อนเพลีย จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ หลับไม่สนิท หรือมีความเครียด ทำให้ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น
- ปวดตา ตาพร่า จากการนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ อาจมีอาการตาแห้ง ตามัว ปรับภาพได้ช้าลงหรือมีน้ำตาไหล ระคายเคืองตา ตาล้า ตาแห้ง ปวดตาได้
- ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หน้ามืด จากอาการตึงเกร็งของกล้ามเนื้อต้นคอและบ่าสะสม ความเครียดที่เกิดขึ้น เนื่องจากอยู่ผิดท่าเป็นเวลานาน เมื่อเป็นมากๆ อาจลามไปยังศีรษะได้

ออฟฟิศซินโดรมอาการหนักเป็นอย่างไร
อาการต่างๆ ของออฟฟิศซินโดรม มักจะหายได้เองหรือหลังจากการรักษาง่ายๆ เช่น การทำกายภาพด้วยความร้อน การออกกำลังกายแบบยืดเหยียด การฝังเข็ม หลังการรักษามักมีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางคนอาจเกิดอาการเรื้อรังมากกว่า 6 เดือน หากไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังจะมีอาการปวดมากกว่าแบบเฉียบพลัน
นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อถูกจำกัด กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวไม่สมดุล ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายและการปวดเรื้อรังที่มากขึ้น
ออฟฟิศซินโดรมเกิดจากสาเหตุอะไร
ทำไมถึงเป็นออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรม มักพบในผู้ที่ต้องนั่งทำงานอยู่ท่าเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เช่น ทำงานนั่งโต๊ะ หรือนั่งท่าไม่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อต้องเกร็งตัวเป็นระยะเวลานานๆ เช่น การนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ การนั่งตัวงอ หรือการก้มหน้านานๆ ทำให้กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานซ้ำๆ เกิดการหดเกร็ง หรืออยู่ในลักษณะเดิมบ่อย ๆ จนกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ เกิดการบาดเจ็บ ขมวดเป็นก้อนตึง และเกิดอาการปวดตามมา
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรม ได้แก่
1. ท่าทาง การทำงานที่ไม่เหมาะสม หรือค้างอยู่ในท่า ๆ หนึ่งนานเกินไป เช่น นั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานาน โดยไม่ได้ขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ การบิดเอี้ยวลำตัว ทำให้เกิดการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้
2. ระยะเวลา การทำกิจกรรมหรือการทำงานที่อยู่ในท่าเดียวกันนานๆ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบท ทำให้กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งถูกใช้งานเป็นเวลานานและเกิดอาการล้า เสี่ยงต่อการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้
3. การใช้แรง การออกแรงมากเกินไปขณะทำงาน ทำให้มีความเสี่ยงต่อ การเกิดการบาดเจ็บ เช่น การยกของหนัก เกินไปทำให้มีความเสี่ยงต่อการปวดหลังส่วนล่าง
4. การทำท่าเดิมซ้ำๆ การเคลื่อนไหวแบบซ้ำๆ มีแนวโน้ม ทำให้เกิด การบาดเจ็บสะสมที่กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ได้เช่น การทำงานที่ต้องออกแรงใช้มือและแขนข้างเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน การเคลื่อนไหวข้อมือซ้ำๆ เป็นต้น
5. ความสั่นสะเทือน การใช้เครื่องมือขณะทำงานที่ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนโดยเฉพาะมือ และแขน ทำให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่มือลดลง ก่อให้เกิดการบาดเจ็บสะสมที่มือและแขน
6. แรงกดเฉพาะที่ การจับเครื่องมือที่ทำจากวัสดุแข็งหรือมีการออกแรงในการจับวัตถุที่แข็งมากเกินไป ทำให้เกิดแรงกดเฉพาะที่ต่อเอ็นกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการอักเสบตามมา

การรักษาและป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม
การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมมีด้วยกันหลายวิธี
1. ปรับท่าทางในการทำงานให้เหมาะสม เช่น ปรับปรุงท่านั่งทำงานให้ร่างกายอยู่ในลักษณะที่เหมาะสมเป็นธรรมชาติ คือ ลำตัวตรง แขนวางอยู่ด้านข้างลำตัวในท่าสบาย แนวแกนข้อมือตรง ขาเหยียดตรงเท้าวางราบกับพื้น หากต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ควรยืดกล้ามเนื้อในขณะกำลังทำงานเป็นระยะ ๆ และควรกำหนดเวลาพักเป็นระยะ เช่นทุกๆ 1-2 ชั่วโมง เพื่อลุกขึ้นมาเปลี่ยนท่าทาง ไม่ค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป
ส่วนการยกของหนักให้ยืนใกล้ของที่จะยกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยยืนกางขาพอสมควรวางขาให้กว้างเท่ากับความกว้าง ของไหล่เพื่อเปิดให้ของที่จะยกอยู่ใกล้ตัวระหว่างเท้าและเข่า ก้มยกของโดยยืดสะโพกและเข่าขึ้นเพื่อยกของขึ้น ลุกขึ้นยืนโดยใช้กำลังของกล้ามเนื้อต้นขา ไม่ใช้กล้ามเนื้อหลังและระวังอย่าให้หลังโค้งงอ ช่วยป้องกันอาการปวดกล้ามเนื้อหลังได้
2. การทำท่าบริหารต่างๆ เช่น ท่าบริหารต้นคอ บริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่ บริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อแขน บริหารนิ้วและฝ่ามือ เป็นต้น
3. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปรับปรุงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีผลต่อ การเกิดโรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น เสียงที่ไม่ดังเกินไป แสงสว่างที่ไม่มืดหรือสว่างเกินไป อุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นมากเกินไปมีผลต่อท่าทางการทำงานและทำให้เกิดโรคปวดกระดูกและกล้ามเนื้อได้
4. การกินยาแก้ปวด คลายกล้ามเนื้อ หรือนวดโดยใช้ครีมแก้ปวด แปะแผ่นเจลประคบ เพื่อคลายกล้ามเนื้อ
5. การทำกายภาพบำบัด โดยนักกายภาพบำบัดจะใช้เครื่องมือช่วยปรับโครงสร้างร่างกายในส่วนที่มีปัญหา ให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และกำหนดท่าบริหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป และแนะนำรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ
6. การนวดแผนไทย เพื่อคลายกล้ามเนื้อที่ตึง หรือการฝังเข็ม เพื่อคลายจุดบริเวณที่กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งเป็นปม ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก

การป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม มีหลายวิธี ได้แก่
1. การออกกำลังกาย:
- ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวแข็งแรง เกิดความยืดหยุ่น
- ออกกำลังกายแบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เช่น บอดี้เวท จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บง่าย
- ออกกำลังกายแบบยืดเหยียด เช่น โยคะ พิลาติส ช่วยลดอาการตึงและเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ
2. การมีอิริยาบถในการทำงานด้วยท่าทางที่ถูกต้อง และเปลี่ยนอิริยาบทเพื่อผ่อนคลายทุกๆ 1 ชั่วโมง
3. การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงาน และสรีระของร่างกาย เช่น ปรับความสูงของเก้าอี้ให้อยู่ในท่าที่นั่งสบาย ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับที่มองเห็นเหมาะสม เป็นต้น