โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองในปัจจุบันเป็นปัญหาที่พบบ่อย ทั้งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องได้ในวงกว้าง สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง คนโดยส่วนใหญ่มักจะเรียกว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะด้วยลักษณะอาการและผลการรักษาในอดีตที่มักไม่ประสบความสำเร็จจึงส่งผลให้เกิดความพิการ จากข้อมูลจากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2556 รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2556 พบว่าโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายของประชาชนไทยในเพศชายเป็นอันดับที่ 1 ร้อยละ 11.1 เพศหญิงอันดับที่ 1 ร้อยละ 14.5 และการสูญเสีย ปีสุขภาวะของประชากรไทยในเพศชายเป็นอันดับที่ 3 คิดเป็นร้อยละ 6.9 เพศหญิงอันดับที่ 1 ร้อยละ 8.2 คนไทยเสียปีสุขภาวะจากโรคหลอดเลือดสมองประมาณปีละ 792,000 ปี
โดยโรคหลอดเลือดสมองนั้นเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณสมองทำให้เกิดโรคต่างๆของหลอดเลือดในสมอง ได้แก่ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ (ischemic stroke) และโรคหลอดเลือดในสมองแตก (Intracranial hemorrhage) ทำให้เกิดภาวะขาดเลือดของสมองจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือทำให้เกิดความผิดปกติต่อสมอง และระบบประสาทได้ง่าย โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิดดังนี้
- สมองขาดเลือด Ischemic Stroke โรคหลอดเลือดสมอง ที่เกิดจากสมองขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ หรือมีลิ่มเลือดอุดสมอง จะทำให้เกิดอาการอัมพาตเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการพูดและหรือการมองเห็น ซึ่งภาวะสมองขาดเลือดนั้นมีสาเหตุจากการที่ร่างกายไม่สามารถลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันของเส้นเลือด จึงส่งผลให้ออกซิเจนและสารอาหารอื่นๆไม่สามารถขึ้นไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ
- เลือดออกในสมอง Hemorrhagic Stroke การที่เลือดออกในสมองนั้น เกิดจากภาวะหลอดเลือดแตก และมีเลือดออกในสมอง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือความดันโลหิตสูงและความผิดปกติของผนังหลอดเลือด aneurysms ทำให้มีเลือดออกในสมอง
- สมองขาดเลือดชั่วคราว transient ischemic attack (TIA) เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดชั่วคราวเนื่องจากมีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดสมองหรือตีบตันทำให้ขาดเลือดจึงเกิดอาการระยะหนึ่ง โดยมักจะเพียงไม่กี่นาที แต่อาจจะนานถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งผู้ที่เป็นสมองขาดเลือด 1 ใน 3 จะมีโอกาศเป็นโรคอัมพฤตได้
อาการของโรคหลอดเลือดสมองที่พบบ่อย
อาการเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายเองเป็นปกติ เช่น อ่อนแรงประมาณ 30 นาที และดีขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ไปพบแพทย์ ในกรณีที่มีอาการชั่วคราวแล้วดีขึ้นเรียกว่า สภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว ซึ่งจากการศึกษาพบว่า 1 ใน 9 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันถาวรใน 90 วัน ส่วนอีก 50 % จะเกิดใน 2 วันแรก หากท่านมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อรักษาอย่างทันท่วงที
- มีอาการอ่อนแรงที่ใบหน้า เช่นปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หลับตาไม่สนิท หรือชาที่ใบหน้า
- มีอาการแขนขาอ่อนแรงอย่างเฉียบพลับโดยมักเป็นครึ่งซีก
- มีอาการแขนหรือขาชาอย่างเฉียบพลัน มักจะเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
- พูดไม่ออก หรือฟังไม่เข้าใจ รวมทั้งพูดลำบาก หรือพูดไม่ชัด
- มองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็น
- มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน โดยที่ไม่มีสาเหตุ
- มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ซึมลง เรียกไม่รู้ตัว
- มีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน
- มีอาการเดินเซ เดินลำบาก การทรงตัวไม่ดีอย่างเฉียบพลัน
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
- อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนในวัยอื่น ๆ แต่ก็อาจพบได้ในคนวัยอื่นได้ด้วยเช่นกัน
- ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีญาติพี่น้องใกล้ชิดป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
- ประวัติการรักษา ผู้ที่เคยมีอาการของภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) และหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จะมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยเคยมีภาวะหลอดเลือดอุดตันมาก่อนแล้ว
- เพศ เพศชายจะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้มากกว่าเพศหญิง
- พันธุกรรม พันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการมาร์ฟาน (Marfan syndrome) จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเซาะตัวของหลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่การตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมองได้สูงกว่าบุคคลทั่วไป
- เชื้อชาติบางเชื้อชาติ เช่น คนผิวขาว (Caucasoid) มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ คนผิวดำ/คนผิวเหลือง มีโอกาสเสี่ยงจากโรคหลอดลือดสมอง
- ความดันโลหิตสูง ภาวะนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง โดยมีความเสี่ยงประมาณ 3-17 เท่า ทั้งนี้แล้วแต่ระยะเวลาของโรค ความรุนแรง และการควบคุมความดัน
- โรคเบาหวาน โรคเบาหวานมักจะพบร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดแข็ง
- การสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเป็น 2 เท่า
- โรคเลือดบางชนิด เช่น โรคโลหิตจางบางชนิด เช่น sickle cell anemia
- โรคหัวใจ รวมทั้งหัวใจวายและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด โดยเฉพาะ atrial fibrillation
- ขาดการออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ
- โรคอ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะนอนกรน
- การดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณมากกว่า 2 แก้ว ต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก
- การใช้สารเสพติด หรือยากระตุ้นประสาทบางชนิด
- ภาวะเครียด
การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองนั้นเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด แต่ก่อนที่แพทย์จะตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด วิธีที่แพทย์ใช้ในการตรวจเพื่อยืนยันโรคหลอดเลือดสมอง มีดังนี้
- การซักประวัติและตรวจร่างกายแพทย์จะซักประวัติการรักษา อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ และประวัติครอบครัวว่ามีญาติใกล้ชิดป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและระยะเวลาการเกิดอาการ วัดความดันโลหิต ฟังเสียงหัวใจและการทำงานของหลอดเลือด
- การตรวจเลือดแพทย์อาจสั่งให้มีการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปทดสอบดูการก่อตัวของลิ่มเลือด ซึ่งหากระดับน้ำตาลในเลือดและสารเคมีต่าง ๆ ในเลือดเสียสมดุล การแข็งตัวของเลือดก็จะผิดปกติ
- การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพโดยรวมของสมอง และหากมีภาวะเลือดออกในสมอง ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งก่อนเอกซเรย์ แพทย์อาจฉีดสารย้อมสีเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือด เพื่อให้เห็นรายละเอียดของการไหลเวียนเลือดและสมองได้ดียิ่งขึ้น
- การเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) มีจุดประสงค์คล้ายการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่จะช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียดของสมองได้อย่างชัดเจนมากกว่า ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น
- การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดแดงที่คอ (carotid Ultrasonography) เป็นการตรวจที่ช่วยให้แพทย์เห็นการก่อตัวของคราบพลัคจากไขมัน อันเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันและเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- การฉีดสีที่หลอดเลือดสมอง (Cerebral Angiography) แพทย์จะสอดท่อไปยังหลอดเลือดสมองผ่านทางแผลเล็ก ๆ ที่ขาหนีบ จากนั้นจะฉีดสารย้อมสีเข้าไป และเอกซเรย์ วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์เห็นระบบการไหลเวียนของเลือดไปยังคอและสมองได้มากขึ้น
- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) วิธีนี้มักใช้ตรวจการทำงานของหัวใจ แต่ในหลายกรณีก็ช่วยระบุการการทำงานของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองได้ด้วยเช่นกัน หากพบว่ามีการอุดตันของหลอดเลือด หรือพบลิ่มเลือดก็สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองได้
แนวทางการรักษา
ขั้นตอนการรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก โดยจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
- หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เป้าหมายของการรักษาคือทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการและอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมองและรีบมาโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง
- หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด เป้าหมายของการรักษาคือการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต
วิธีการรักษาอื่น ๆ ได้แก่
การผ่าตัดเปิดหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (Carotid endarterectomy) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดตีบอย่างรุนแรง อาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อเปิดหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอเพื่อกำจัดสิ่งที่ขัดขวางหลอดเลือดออก
การผ่าตัดเพื่อกำจัดลิ่มเลือด (Thrombectomy) ในกรณีที่มีลิ่มเลือดขัดขวางการไหลเวียนของหลอดเลือดอย่างรุนแรง การผ่าตัดเพื่อกำจัดลิ่มเลือดจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น และไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้อย่างเต็มที่
วิธีป้องกัน
- รับประทานอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ การรับประทานอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีเส้นใยมาก ลดอาหารเค็ม ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง จะสามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 3 ประการ คือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะน้ำหนักเกิน โดยสรุป อาหารที่ควรงดหรือหลีกเลี่ยงมีดังนี้ ไข่แดง ไข่ปลาหมึก ไข่ปู ไข่กุ้ง หนังสัตว์ เช่น หนังหมู หนังเป็ด หนังไก่ แคปหมู หนังปลาทอด เครื่องในสัตว์ทุกชนิด อาหารทะเล กะทิ น้ำมัน หรืออไขมันจากสัตว์ สำหรับอาหารที่แนะนำให้รับประทาน ได้แก่ ผัก ผลไม้ ปลา และเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน
- การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ชนิดของการออกกำลังกายควรเป็นประเภทแอโรบิค
- ตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอในกรณีที่ตรวจพบความดันโลหิตสูง
- หยุดสูบบุหรี่ เป็นวิธีลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่ปฏิบัติได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณได้รับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี