มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีไทย มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 14 รายต่อวัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และสามารถรักษาให้หายขาดได้ก่อนเป็นมะเร็งระยะลุกลาม ซึ่งส่วนมากสตรีที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกจะมีอายุอยู่ในช่วง 30-65 ปี จากข้อมูลของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาพบว่าสตรีวัยชราที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกจำนวนร้อยละ 15 และเป็นโรคที่พบได้น้อยในสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก
มีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี [Human Papillomavirus (HPV) infection] เป็นตัวการสำคัญที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค โดยเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง (Oncogenic type) เช่น type 16 และ 18 จะทำให้เซลล์ปากมดลูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ผิดปกติอันจะนำมาสู่การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ติดเชื้อ และสามารถเกิดการติดต่อได้หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นทางปาก ช่องคลอด หรือทางทวารหนัก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆที่เป็นสาเหตุนำมาสู่การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกดังต่อไปนี้
- การสูบบุหรี่ (Smoking) เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพต่ำลงในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสเอชพีวี สตรีที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มากถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เช่นเดียวกันกับสตรีที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ทางอ้อม
- ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือติดเชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus -HIV) เพราะระบบภูมิคุ้มกันเป็นระบบที่มีความสำคัญในการช่วยต้านทานเซลล์มะเร็งเพื่อไม่ให้เติบโต หรือแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคเอดส์จึงมีโอกาสความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งนำมาสู่โรคมะเร็งปากมดลูกดังนั้นจึงไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้งหรือมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ
- มีประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน หรือเกิดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อคลามีเดีย (ทำให้เป็นหนองในเทียม), หนองใน, ซิฟิลิส หรือเริม ทำให้ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ และติดเชื้อเอชพีวีได้ง่าย เป็นต้น
- ปัจจัยทางพฤติกรรมการบริโภค คือ หากบริโภคผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีกากใยไม่เพียงพอจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
- สตรีที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน มีแนวโน้มของความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
- มีพฤติกรรมการใช้เม็ดยาคุมกำเนิดในระยะยาวติดต่อกันนานเกินกว่าระยะเวลา 4 – 5 ปี เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่โอกาสความเสี่ยงจะหมดไปเมื่อมีการหยุดใช้ยา
- มีประวัติการตั้งครรภ์ที่ครบกำหนดบ่อยครั้ง การตั้งครรภ์มากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
- มีประวัติการตั้งครรภ์ และคลอดบุตรในช่วงอายุที่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ กล่าวคือสตรีที่มีบุตรก่อนวัยอันควรจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมากกว่าสตรีทั่วไปที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป
- ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม สตรีที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่อาศัยอยู่ตามแหล่งชุมชนอาจไม่ได้รับการบริการทางสุขภาพที่เพียงพอ และไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวี จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกสูง
สัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก
ปัจจุบันยังไม่พบอาการบ่งชี้ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกๆ แต่จะมีอาการผิดปกติในระยะที่มะเร็งลุกลามดังต่อไปนี้
- มีเลือดออดทางช่องคลอดหลังการมีเพศสัมพันธ์
- มีตกขาวมากผิดปกติ
- มีตกขาวปนเลือด
- ตกขาวมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
- มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ
แนวทางการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
แนวทางที่ 1 ป้องกันระดับปฐมภูมิ (Primary Prevention) คือ สตรีที่มีอายุตั้งแต่ 9-26 ปีสามารถมีวิธีป้องกันได้โดยการรับวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี (Human papillomavirus vaccine)
แนวทางที่ 2 ป้องกันระดับทุติยภูมิ (Secondary Prevention) คือ การป้องกันโดยการเข้ารับการตรวจคัดกรองหาระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Pap Smear) ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ
สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- สตรีที่มีอายุมากกว่า 21 ปีขึ้นไปสามารถเริ่มเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ (สตรีที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี ไม่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรอง)
- สตรีที่มีอายุอยู่ระหว่างช่วง 21-29 ปี ควรเข้ารับการตรวจแป็ป (Pap Smear) ในทุก 1 ปี และตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Test) ทุก 3 ปี
- สตรีที่มีอายุอยู่ระหว่างช่วง 30-65 ปี สามารถเข้ารับการตรวจแป็ปเทสต์ ร่วมกับการตรวจหาเชื้อเอชพีวี (co-testing) เป็นประจำทุก 3-5 ปี จะเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจหารอยโรคขั้นสูง
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ยอมรับกันในระดับสากล
มี 2 วิธีคือ การตรวจแป็ปและการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี
- การตรวจแป็ป (Pap Smear)
คือการตรวจความผิดปกติของเซลล์ บริเวณปากมดลูกโดยการเก็บเซลล์จากบริเวณปากมดลูก ดูความผิดปกติของเซลล์บนสไลด์ด้วยกล้องจุลทรรศน์มี 2 วิธี คือ
- วิธีการตรวจแป็ปแบบดั้งเดิม (Conventional Pap Smear)
วิธีการตรวจแป็ปแบบดั้งเดิม โดยแพทย์จะเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูก ด้วยไม้พาย จากนั้นป้ายลงบนสไลด์แก้ว นำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อย้อมสีและตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
ปัญหาของการตรวจคืออะไร ?
เซลล์เพียง 20% บนไม้พายเท่านั้นที่ถูกป้ายลงบนสไลด์ ลักษณะของสไลด์ อาจมีมูกเลือดปะปนอยู่ทั่วไป การรักษาสภาพเซลล์ไม่ได้ทำทันทีทำให้เซลล์อาจมีรูปร่างเปลี่ยนไป ลักษณะการเรียงตัวของเซลล์ อาจมีการเรียงตัวซ้อนทับกัน ขึ้นกับลักษณะการป้ายของแต่ละตำแหน่ง การซ้อนทับและมีมูกเลือดนี้ อาจทำให้บดบังเซลล์ผิดปกติได้ ทำให้อ่านผลยาก โอกาสผิดพลาดสูง
- วิธีลิควิดเบส (Liquid base)
เป็นวิธีที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) ให้สามารถใช้แทนการตรวจแบบเดิมได้และมีประสิทธิภาพมากกว่าโดยแพทย์เก็บเซลล์ บริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ แล้วใส่ลงในขวดน้ำยา นำส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมสไลด์ด้วย ลักษณะสไลด์เป็นรูปแบบเดียวกัน เซลล์เรียงตัวสม่ำเสมอ เซลล์เรียงตัวแบบบางไม่ซ้อนทับกัน มองเห็นเซลล์ผิดปกติได้ง่าย ไม่มีมูกเลือดบดบังมีข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า การตรวจหาเซลล์มะเร็งโดยวิธีนี้ ให้ผลดีกว่าการตรวจแบบดั้งเดิมดังนี้
- เพิ่มความไวในการวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกระยะก่อนลุกลาม
- คุณภาพสไลด์ที่ใช้ในการตรวจดีขึ้น
- สามารถยืดระยะเวลาการตรวจหาเซลล์มะเร็งจากปากมดลูกจากทุกๆ 1 ปี เป็นปีเว้นปี
- การตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Test)
เป็นการตรวจหาตัวเชื้อโดยตรงบริเวณปากมดลูก และผนังช่องคลอด การตรวจหาเชื้อเอชพีวี คือการตรวจทางชีวโมเลกุลเพื่อตรวจหาดีเอ็นเอของไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกโดยตรง วิธีการตรวจนี้จะได้ผลดียิ่งขึ้นเมื่อตรวจร่วมกับการตรวจแป็ป
ใครบ้างที่ควรตรวจภายใน และมะเร็งปากมดลูก
- สตรีทั่วไปที่มีเพศสัมพันธ์
- สตรีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป
- สตรีที่เว้นว่างจากการตรวจมาระยะหนึ่งแล้ว
- สตรีที่มีอาการตกขาวผิดปกติ หรือมีเลือดออกผิดปกติ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ
- งดเข้ารับการตรวจสำหรับสตรีที่มีรอบเดือน
- งดการมีเพศสัมพันธ์ภายใน 48 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
- งดการใช้ยาสอดในช่องคลอดหรือสวนล้างช่องคลอดภายใน 48 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
- ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ สตรีผู้เข้ารับการตรวจควรงดการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด และยาที่ใช้สำหรับสอดช่องคลอดทุกชนิด เช่น ยาฆ่าอสุจิ (Spermicides)
ระดับความรุนแรงของมะเร็งปากมดลูกสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 – พบมะเร็งอยู่ที่บริเวณปากมดลูก โดยมะเร็งจะอยู่เฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น
ระยะที่ 2 – พบมะเร็งที่ลุกลามออกจากบริเวณปากมดลูกไปสู่บริเวณช่องคลอดส่วนบน
ระยะที่ 3 – พบมะเร็งลุกลามไปจนถึงผนังด้านข้างของเชิงกราน ซึ่งอาจเกิดภาวะไตบวมน้ำ (Hydronephrosis) หรือการทำงานของไตเสื่อมลงจนไม่ทำงาน (Nonfunctioning Kidney)
ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย – มะเร็งได้กระจายไปสู่อวัยวะข้างเคียงอื่นๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก และลำไส้ตรง หรือกระจายไปสู่อวัยวะที่ห่างออกไปเช่น ปอด ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง และสมอง เป็นต้น
การรักษามะเร็งปากมดลูก
- การใช้รังสีรักษา (Radiotherapy) – ปัจจุบันมีการใช้เทคนิคทางรังสีรักษาอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ การฉายรังสีจากภายนอก (External irradiation) และ การใส่แร่ในโพรงมดลูกและช่องคลอด (Intracavitary irradiation / Brachytherapy) เพื่อทำลายก้อนมะเร็งของปากมดลูก การใช้รังสีเพื่อการรักษามีบทบาทอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก จากข้อมูลทางสถิติพบว่าสตรีที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยจำนวนกว่าร้อยละ 90 ราย ใช้การรักษาด้วยรังสีเป็นหลัก เนื่องจากสามารถใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกได้ในทุกระยะของโรคโดยแพทย์จะพิจารณาตามอาการความเหมาะสม ซึ่งบางกรณีก็ใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดเพื่อการรักษา จึงเลือกวิธีการใช้รังสีรักษาเป็นการทดแทน อาจมีผลข้างเคียงจากการรักษา คือ มีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง หรือรู้สึกเบื่ออาหาร ซึ่งเป็นอาการทั่วไปของผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง
- การให้ยาเคมีบำบัด(Chemotherapy) – การให้ยาเคมีบำบัด หรือการทำคีโม คือการใช้ยาเพื่อทำลายการก่อตัวเกิดขึ้นของเซลล์มะเร็ง และป้องกันการลุกลามโดยแพทย์จะคำนึงถึงการรักษาด้วยวิธีการนี้โดยมีระยะอาการมะเร็งของผู้ป่วยเป็นเกณฑ์การตัดสินใจ ซึ่งส่วนมากจะใช้วิธีการให้ยาเคมีบำบัดในผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม (advanced stage)
- การผ่าตัด (Surgery) – การรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยการผ่าตัดคือการผ่าตัดมะเร็งบริเวณอวัยวะบางส่วนของร่างกายออก ได้แก่ การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยแบบกว้าง(Radical Trachelectomy) การตัดมดลูกและปากมดลูกออก (Hysterectomy) และ การผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้าง (Radical hysterectomy) โดยส่วยมากแพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะที่ 1 และ 2 ขึ้นอยู่กับอาการความลุกลามของมะเร็งที่พบ ซึ่งการรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยการผ่าตัดสามารถทำได้ 3 วิธี คือ การผ่าตัดทางหน้าท้อง การผ่าตัดทางช่องคลอด และการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง ซึ่งการใช้กล้องเป็นอุปกรณ์ช่วยในการผ่าตัดมีข้อดี คือ ช่วยลดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการผ่าตัด โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาจะใช้เวลาพักฟื้นเพียงระยะเวลาสั้นๆอย่างน้อย 1-2 วัน ซึ่งสามารถเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นที่โรงพยาบาล และที่สำคัญคือ การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องช่องท้องจะมีบาดแผลจากการผ่าตัดในขนาดที่เล็กกว่าการผ่าตัดแบบอื่นๆ
- การรักษาร่วม (combined treatment) – เป็นการใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกัน เช่น วิธีการให้ยาเคมีบำบัดควบคู่ไปกับการใช้รังสีรักษา (Concurrent Chemoradiation) จะเพิ่มประสิทธิภาพทำให้สามารถทราบผลของการรักษาด้วยการใช้รังสีได้ดีเยี่ยม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและระดับความรุนแรงของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งปัจจุบันจะใช้วิธีการนี้เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่อยู่ในระยะลุกลาม
การลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกซ้ำ – ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ รู้จักดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของตนให้ดี หมั่นออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่พอดี โดยเน้นรับประทานพืชผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รู้จักรับประทานอาหารอย่างมีสัดส่วนที่พอดีและควบคุมน้ำหนัก
โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ดังนั้นการเข้ารับการตรวจภายในและมะเร็งปากมดลูก อย่างสม่ำเสมอ และเลือกตรวจด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพจะทำให้คุณมั่นใจและปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูก